ไลฟ์สไตล์

รู้จัก "มาลาเรีย" คาดเป็นสาเหตุ "ครูบาบุญชุ่ม" ออกอาการแปลก

รู้จัก "มาลาเรีย" คาดเป็นสาเหตุ "ครูบาบุญชุ่ม" ออกอาการแปลก

11 ส.ค. 2565

ทำความรู้จักโรคไข้ "มาลาเรีย" หลัง หลวงพ่อเล็ก เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ตั้งข้อสันนิษฐานอาจเป็นสาเหตุที่ ครูบาบุญชุ่ม มีอาการแปลก หลังออกจาก ถ้ำเมืองแก๊ด

หลังจากที่ พระครูวิลาศกาญจนธรรม หรือ หลวงพ่อเล็ก เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน จ.กาญจนบุรี ออกมาตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุที่ ครูบาบุญชุ่ม มีอาการแปลก หลังออกจาก ถ้ำเมืองแก๊ด น่าจะเป็นเพราะเชื้อ "มาลาเรีย" ตัวที่ ครูบาบุญชุ่ม ได้รับ เพราะอาการที่แสดงออกก็คือขาดสติ 

 

วันนี้ คมชัดลึก ออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ ว่าเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และต้องรักษาด้วยวิธีใด

 

 

 

 สาเหตุโรคไข้มาลาเรีย

"มาลาเรีย" เป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ซึ่งติดต่อสู่คนโดยการกัดของยุงก้นปล่อง นอกจากนี้เคยมีรายงานการติดเชื้อจากคนสู่คนผ่านการรับเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ และจากมารดาสู่ทานกในครรภ์แต่พบน้อยมา ยุงก้นปล่องสปีชีส์ที่พบว่านำโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ได้แก่ Anopheles dirus, An.minimus, An. maculatus, An. epiroticus, An. aconitus

 

การติดต่อของโรคไข้มาลาเรีย   

เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อ "มาลาเรีย" กัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือด

 

 ระยะฟักตัวของโรคไข้มาลาเรีย   

 - เชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัม (P.falciparum) ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน

 - เชื้อมาลาเรียไวแวกซ์ (P.vivax) และ เชื้อมาลาเรียโอวาเล่ (P.ovale) ระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน

 - เชื้อมาลาเรียมาลาเรอิ (P.malariae) ระยะฟักตัวประมาณ 18-40 วัน

อาการของโรคไข้มาลาเรีย

โดยทั่วไปมีอาการนําคล้ายกับเป็นไข้หวัดแต่ไม่มีน้ำมูก มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร อาการต่างๆ อาจเป็นอยู่ในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อ "มาลาเรีย" แต่ละชนิด

 

อาการที่เด่นชัดของโรคไข้มาลาเรียประกอบด้วย 3 ระยะ คือ

  1. ระยะหนาว ซึ่งเป็นช่วงการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรีย ผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ปากและตัวสั่น ซีด ผิวหนังแห้งหยาบ กินเวลาประมาณ 15-60 นาที
  2. ระยะร้อน ผู้ป่วยมีไข้สูง อาจมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย ตัวร้อนจัด หน้าแดง หิวน้ำ
  3. ระยะเหงื่อออก ผู้ป่วยมีเหงื่อออกจนเปียกชุ่ม ร่างกายอ่อนเพลียและหายไข้ กลับเหมือนคนปกติ และจับไข้ใหม่ตามอาการในข้อ 1-3

 

อาการข้างเคียงจากการกินยารักษาโรคไข้มาลาเรีย

 

  • ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะอาจมีสีเข้มขึ้น
  • แก้ไขโดยกินยาหลังอาหารทันที หรือกินอาหารก่อนแล้ว จึงกินยาตามทันที
  • อาการเหล่านี้จะดีขึ้น ภายใน 2-3 วัน
  • ให้ผู้ป่วยสังเกตสีปัสสาวะ หากสีเข้มมากขึ้น คล้ายสีชาหรือสีโค้ก ให้หยุดกินยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

 

 

การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย

 

  • โรคไข้ "มาลาเรีย" เป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้
  • ต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดในช่วงที่ยุงออกหากินตั้งแต่ย่ำค่ำจนรุ่งสาง
  • วิธีป้องกันยุงกัดที่รู้จักกันแพร่หลายคือ การนอนในมุ้งทุกคืน หากเป็นมุ้งชุบน้ำยาก็ช่วยไล่ยุงได้
  • วิธีอื่นๆ เช่น ทายากันยุงบริเวณผิวหนังนอกเสื้อผ้า
  • ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด เช่น เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
  • นอนในบ้านหรือกระท่อมที่ได้รับการพ่นสารเคมีติดข้างฝา
  • หากค้างคืนในป่าเขา ไร่นา ต้องรู้จักป้องกันตนเอง เช่น นอนในมุ้ง หรือหากใช้เปลนอน ก็ให้หามุ้งคลุมเปลพร้อมทั้งใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด และทายากันยุง

 

ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค

 

ติดตาม คมชัดลึก คลิก

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote  ในครั้งนี้

รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform

(https://awards.komchadluek.net/#)