ไลฟ์สไตล์

รู้จัก "โรคมือเท้าปาก" โรคสุดฮิตใน "เด็ก" ที่ พ่อแม่ ควรระวังและป้องกัน

รู้จัก "โรคมือเท้าปาก" โรคสุดฮิตใน "เด็ก" ที่ พ่อแม่ ควรระวังและป้องกัน

23 ส.ค. 2565

ทำความรู้จัก "โรคมือเท้าปาก" โรคสุดฮิตที่พบใน "เด็ก" ช่วงเปิดเทอม โรคที่ พ่อ-แม่ ควรเฝ้าระวัง ทั้งอาการและการป้องกัน

ในช่วงเปิดการเรียนการสอนของ เด็ก ในช่วงนี้ สิ่งที่มักหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ การเจ็บป่วยใน เด็ก  ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัด หรือ โรคต่างๆ รวมไปถึง "โรคมือเท้าปาก" (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก และสร้างความเจ็บปวด โดยผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับอาการป่วยอื่นๆ ด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร พบมากใน เด็ก อายุต่ำกว่า 10 ปี แต่สามารถเกิดกับเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วัน

 

อาการของโรคมือเท้าปาก

 

"โรคมือเท้าปาก" เป็นมากใน เด็กเล็ก ที่อายุน้อยกว่า 10 ปี แต่สามารถพบได้ในเด็กโตและวัยผู้ใหญ่ โดยที่อาการของ "โรคมือเท้าปาก" ในเด็กที่โตกว่าหรือในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าใน เด็กเล็ก แต่อาจมีบางกรณีที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง

 

"โรคมือเท้าปาก" มีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง ดังนี้

- มีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส
- ไอ เจ็บคอ
- ไม่อยากอาหาร
- ปวดท้อง
- อ่อนเพลีย
- มีตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก
- เด็กวัยแรกเกิดและเด็กเล็กวัยหัดเดินจะมีอาการงอแงไม่สบายตัว

 

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

 

"โรคมือเท้าปาก" เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ส่วนใหญ่เกิดจาก ไวรัสสายพันธุ์ค็อกซากี้ เอ16 (Coxsackie A16 Virus) และบางส่วนอาจเกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) โดยเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอหรือจาม การสัมผัสของเหลวหรือของเสียที่ปนเปื้อนเชื้อ 

 

นอกจาก 2 สายพันธุ์นี้ ยังมีไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่สามารถเป็นต้นเหตุของโรคมือเท้าปากได้ คือ กลุ่มเอนเทอโรไวรัส เช่น กลุ่มโปลิโอไวรัส (Polioviruses) กลุ่มค็อกซากี้ไวรัส (Coxsackieviruses) กลุ่มเอ็กโค่ไวรัส (Echoviruses) และกลุ่มเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่นๆ (Enteroviruses)

 

การวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก

 

ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองว่าเข้าข่าย "โรคมือเท้าปาก" หรือไม่ โดยทั่วไปแล้วอาการป่วยจะทุเลาลงและหายป่วยเองภายในเวลา 7-10 วัน แต่หากอาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือทรุดหนักลง ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา โดยแพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้นและตรวจร่างกาย ตรวจดูบริเวณที่มีแผลหรือตุ่มหนองอักเสบ โดยจะพิจารณาวินิจฉัยโรคจากหลายๆ องค์ประกอบ และแพทย์อาจนำตัวอย่างของเหลวภายในลำคอ หรือตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของอาการป่วยต่อไป

 

การรักษาโรคมือเท้าปาก

 

"โรคมือเท้าปาก" ไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดในทันที หากป่วยด้วยโรคนี้ ผู้ป่วยควรพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ดูแลอาการหรือรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการป่วย แล้วรอจนกว่าอาการเหล่านั้นจะหายไป แต่หากอาการป่วยไม่บรรเทาลง มีอาการป่วยที่ยิ่งทรุดหนัก หรือมี อาการแทรกซ้อน อย่างอื่นเกิดขึ้นอีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

 

อาการไข้และความเจ็บปวดจากแผล

 

ให้รับประทานกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป อย่าง พาราเซตามอล หรือ ไอบูโพรเฟน นอกจากยาจะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายลงแล้ว ยาเหล่านี้ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากตุ่มแผลอักเสบที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย โดยให้เลือกรูปแบบการใช้ยาตามความเหมาะสมกับวัยของผู้ป่วย หากเป็นเด็กเล็กอาจใช้ในรูปแบบยาน้ำรับประทาน สำหรับสตรีมีครรภ์ควรรับประทานพาราเซตามอล และควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพรินในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี การใช้ยาควรศึกษาฉลากยาให้รอบคอบก่อนการบริโภค หากผู้ป่วยไม่มีไข้ ก็ไม่ควรใช้ยาเพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ให้มีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าฝ้ายบางๆ เปิดหน้าต่างหรือพัดลมเพื่อระบายอากาศ แต่ไม่ควรใช้น้ำเย็นเช็ดตัวผู้ป่วย นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวจากน้ำที่อุณหภูมิเย็นจัดแล้ว ยังทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังหดตัวเมื่อได้สัมผัสกับน้ำเย็น จะเป็นการลดการระบายความร้อนของร่างกาย และดักจับความร้อนไว้ใต้ผิวหนังส่วนที่ลึกลงไป ซึ่งอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงไปด้วย

 

การรักษาดูแลตุ่มแผลอักเสบภายในปาก

การใช้ยา

- ลิโดเคน เจล (Lidocaine Gel) เป็นยาชาเฉพาะที่ ลดการเจ็บปวดในบริเวณที่ทา สามารถใช้ใน เด็ก ได้

 

การใช้น้ำยาบ้วนปาก

- น้ำเกลือบ้วนปาก สามารถใช้น้ำเกลืออุณหภูมิอุ่นๆ ในการบ้วนปากได้ต่อเมื่อเด็กโตพอที่จะบ้วนปากได้เองโดยไม่กลืนน้ำเกลือลงไป

- การรับประทานอาหาร ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่กลืนง่าย อย่างซุป ข้าวต้ม มันบด ไอศกรีม หรือโยเกิร์ต โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัด มีรสเปรี้ยว หรือมีรสเผ็ด

- ป้องกันภาวะขาดน้ำ ดื่มน้ำ เปล่าหรือนมมากๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ หากอาการเจ็บปวดภายในลำคอและปากทำให้การดื่มหรือกลืนน้ำยากลำบาก ให้รับประทานยาแก้ปวดก่อน เมื่อยาออกฤทธิ์ ให้ดื่มน้ำมากๆ โดยควรดื่มน้ำทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหรือบ่อยกว่านั้น หาก "โรคมือเท้าปาก" เกิดขึ้นกับ เด็ก และเด็กไม่ยอมดื่มน้ำ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป โดยแพทย์อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดทดแทน

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปาก

 

อาการส่วนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากป่วยด้วย "โรคมือเท้าปาก" คือ ภาวะขาดน้ำ เพราะการป่วยทำให้เกิดแผลอักเสบภายในปากและลำคอ ทำให้กลืนลำบากและสร้างความเจ็บปวดขณะกลืนน้ำหรืออาหาร ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบตามมา มักเป็นอาการป่วยทั่วไปที่ไม่รุนแรง ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสพบได้น้อยมาก คือ อาการเล็บมือเล็บเท้าหลุด หรือภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส และภาวะสมองอักเสบ

 

การป้องกัน โรคมือเท้าปาก

 

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากได้ แต่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อที่จะทำให้เกิดโรค รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ ได้แก่

- สร้างสุขนิสัยรักความสะอาด โดยเฉพาะการฝึกฝนเด็กไม่ให้ใช้มือจับของเข้าปาก
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ เจล แอลกอฮออล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อม ใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่น หรือก่อนการเตรียมทำอาหาร
- ทำความสะอาดเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดกำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อ
- ไม่สัมผัสของเล่น หรือใช้ของใช้ส่วนตัว รวมทั้งไม่ใช้ช้อนส้อม แก้วน้ำ หรืออุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก
- ใช้ผ้าสะอาดหรือทิชชู่ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม แล้วทิ้งลงถังขยะให้เร็วที่สุดหลังใช้งานแล้ว
- ไม่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด เช่น การกอด การจูบ การหอม
- แยกเด็กหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคมือเท้าปากออกจากคนปกติเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่วิธีที่ดีที่สุดหากป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ควรลางานหรือหยุดเรียน แล้วพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย

 

ขอบคุณข้อมูล : POBPAD

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w


เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่


(https://awards.komchadluek.net/#)