ไลฟ์สไตล์

"โรคกินไม่หยุด" คืออะไร ไม่หิวก็กิน เช็ค อาการ แบบไหนเข้าข่าย ต้องรักษา

"โรคกินไม่หยุด" คืออะไร ไม่หิวก็กิน เช็ค อาการ แบบไหนเข้าข่าย ต้องรักษา

01 ก.ย. 2565

"โรคกินไม่หยุด" คืออะไร ไม่หิวก็กินตลอดเวลา ไม่รู้สึกอิ่ม เช็ค อาการ แบบไหนเข้าข่าย เป็นแล้ว รักษาหาย หรือไม่

มีใครเคยเจอกับปัญหา กินไม่หยุด บ้าง แม้จะไม่รู้สึกหิวก็ยังกิน อยู่ตลอดเวลา แบบชนิดที่เรียกว่าหยุดไม่ได้ พอน้ำหนักขึ้นก็รู้สึกแย่กับตัวเอง หากใครเจออาการในลักษณะนี้ พึงตระหนักไว้ได้เลยว่า คุณไม่ได้แค่จะอ้วน แต่เป็นอาการผิดปกติ ที่เรียกกันว่า "โรคกินไม่หยุด" ซึ่งนักร้องหนุ่ม "ไอซ์ ศรัณยู" เคยเผชิญกับโรคนี้มาแล้ว ถึงขั้นต้องพบกับจิตแพทย์ และนักโภชนาการ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคนี้เกิดจากการโดนทักบ่อยว่า "อ้วน" เช็คอาการเสี่ยง แบบไหนเข้าข่าย และหากเป็นแล้วรักษาได้หรือไม่ คมชัดลึกออนไลน์ รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว

 

โรคกินไม่หยุดคืออะไร?

โรคกินไม่หยุด  หรือ Binge Eating Disorder (BED) คือ อาการรับประทานอาหารปริมาณมากผิดปกติ โดยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้ที่มีอาการโรคกินไม่หยุดนี้ มักมีการรับประทานอาหารปริมาณมากกว่าปกติแม้ไม่รู้สึกหิว และไม่สามารถควบคุมการรับประทานของตนเองได้ เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากในเพศหญิง ช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป สาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดโรคยังไม่ชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการทานอาหารไม่หยุดแม้จะไม่รู้สึกหิว และจะหยุดก็ต่อเมื่อไม่สามารถทานต่อได้แล้วโดยจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง

 

 

สาเหตุของโรคกินไม่หยุด

สาเหตุของอาการโรคกินไม่หยุด ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่คาดว่าอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น และปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ เช่น

โรคกินไม่หยุด

  • โรคอ้วน โดยพบว่าผู้ที่มีอาการโรคกินไม่หยุด มักมีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว
  • ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ขาดความมั่นใจในรูปร่าง และมีความพึงพอใจในรูปร่างของตนเองต่ำ
  • เสพติดการลดน้ำหนัก เครียดกับการลดน้ำหนัก หรือเคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก
  • เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ
  • มีประวัติคนในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกับโรคการกินผิดปกติ
  • มีภาวะทางจิต อาทิ โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรคไบโพลาร์ โรคกลัว (Phobias) และภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder: PTSD)

 

 

อาการของโรคกินไม่หยุด

  • กินอาหารมากกว่าปกติ และทุกครั้งที่เริ่มกินอาหาร ก็เหมือนจะควบคุมปริมาณอาหารที่กินเข้าไปไม่ได้
  • กินอาหารด้วยความรวดเร็วเสมอ ยังคงกินอีกได้เรื่อยๆ แม้จะรู้สึกอิ่มจนแน่นท้องแล้วก็ตาม
  • สามารถกินอาหารในปริมาณมาก ๆ ได้ แม้จะไม่รู้สึกหิวเลยสักนิด
  • ทุกครั้งที่เกิดอาการก็มักจะหลบไปกินคนเดียว เพราะอายที่จะให้ใครรู้ว่าตัวเองกินอาหารได้เยอะขนาดไหน
  • ยิ่งเครียด ยิ่งอารมณ์เสีย ยิ่งกินมากขึ้นๆ แต่จะรู้สึกผิดและรู้สึกแย่ทุกครั้ง หลังกินอาหารมื้อใหญ่เข้าไปแล้ว
  • มีพฤติกรรมแปลก ๆ คือกังวลกับน้ำหนักตัวและรูปร่าง แต่กลับกินไม่หยุด พยายามอย่างมากที่จะควบคุมตัวเอง หรือพยายามลดน้ำหนักอย่างหักโหมเกินพอดี แต่ก็เหมือนเอาชนะใจตัวเองไม่สำเร็จเท่าไร  รู้สึกเกลียดตัวเองทุกครั้งที่กินอาหาร

โรคกินไม่หยุด

หากตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิดมีพฤติกรรม หรือเกิดอาการแบบนี้เกิน 3 ข้อขึ้นไป อาจจะต้องได้เวลาไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา เพราะอาจส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพ หรือเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น

 

  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง
  • ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน 
  • เบาหวานชนิดที่ 2 
  • ภาวะทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล 
  • ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อไทรอยด์
  • อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ไม่ตก จึงทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้นด้วย

 

โรคกินไม่หยุดแก้ยังไง

 

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : ออกกำลังกาย ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และไม่ปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในสภาวะความเครียด
  • การใช้ยา : เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมีจุดประสงค์เพื่อจัดการสมดุลภายในสมอง และลดโอกาสเกิดอาการของโรคกินไม่หยุด แต่ด้วยผลข้างเคียงจากการใช้ยาจึงต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • การทำจิตบำบัด : มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้สาเหตุ และอาการของโรคเพื่อรับมืออาการและสามารถจัดการกับความคิดด้านลบต่อร่างกายของตนเองได้

 

โรคกินไม่หยุดต้องใช้ความอดทน และความมีวินัยในการรักษา การได้รับกำลังใจ และความเข้าใจจากคนรอบข้างจึงเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่จะทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จ และสิ่งสำคัญก็คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ต้องเข้าใจในพฤติกรรม หรืออาการป่วยของตัวเองก่อน ว่าตัวเราเองตอนนี้เป็นผู้ป่วย ต้องใช้การบำบัด และต้องเชื่อฟังหมอ เพื่อรักษาอาการของโรคนี้ให้หาย เพื่อที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  รพ.รามคำแหง , รพ.พระราม 9

 



 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote 

https://www.komchadluek.net/entertainment/524524