"ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน" ทำไม คน ร่างกาย แข็งแรง ก็เกิดได้ รู้เท่าทัน ก่อนสาย
รู้จัก "ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน" ทำไม คน ร่างกาย แข็งแรง ไม่มี โรคประจำตัว ก็เกิดได้ รู้เท่าทันก่อน เสียชีวิตกะทันหัน
ในช่วงนี้ เรามักจะได้ยินข่าวคน เสียชีวิตกะทันหัน โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่ ร่างกาย แข็งแรง ไม่มีปัญหาสุขภาพ หรือโรคประจำตัว ซึ่งความแข็งแรงของร่างกายภายนอก จึงไม่อาจบ่งบอกปัญหาการทำงานภายในร่างกายได้ โดยเฉพาะความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่ "ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน" ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า ภาวะดังกล่าวเกิดจากอะไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่
พญ.วริษฐา เล่าสกุล แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช อธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายภายนอกสมบูรณ์แข็งแรงดี อาจมีความผิดปกติของการทำงานภายในร่างกายซุกซ่อนอยู่ โดยเฉพาะการทำงานของอวัยวะ ที่ส่งผลต่อระบบสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ "ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน" ได้ นอกจากนี้ ยังเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ หรือวัยกลางคนเท่านั้น ซึ่ง "ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน" ในผู้ที่สุขภาพแข็งแรง สามารถเป็นได้จากหลายสาเหตุ โดยต้องดูก่อนว่า ผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ในความเป็นจริงแล้วมีโรคประจำตัวอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง หรือ ความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นอันตรายต่อหลายระบบสำคัญในร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือดหัวใจ และระบบประสาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน นั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุของอวัยวะสำคัญของร่างกาย โดยขึ้นอยู่กับอายุ และปัจจัยทางสุขภาพของแต่ละคน เช่น
- หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Death)
- หลอดเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน (Pulmonary Embolism)
- หลอดเลือดสมองตีบ หรือ แตกเฉียบพลัน (Stroke)
สำหรับ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden cardiac death) คือการที่หัวใจหยุดทำงานฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถบีบเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทำให้สมอง และอวัยวะสำคัญจะเริ่มขาดเลือดและเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- เส้นเลือดหัวใจตีบ (Ischemic Heart Disease) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ (Coronary Anomalies)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติไป เช่น การเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่าง (Ventricular Fibrillation, Ventricular Tachycardia)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Low Ejection Fraction) หรือ กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
- สาเหตุความผิดปกติอื่นที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด การเกิดการบาดเจ็บหรือได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก (Commotio Cordis)
ปัจจัยเสี่ยงภาวะเสียชีวิตกะทันหัน
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไตเสื่อม
- การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด
- ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวมีคนเสียชีวิตเฉียบพลันตั้งแต่อายุน้อย (อายุน้อยกว่า 55 ปี)
- การมีโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจ
แนวทางการป้องกันภาวะเสียชีวิตกะทันหัน
- หลีกเลี่ยงประวัติเสี่ยงดังที่กล่าวไปข้างต้น
- คอยสังเกตอาการ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการเจ็บหน้าอก อาการวูบ หมดสติ หายใจเหนื่อย ใจสั่น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับโรคหัวใจ
- ตรวจสุขภาพเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ โดยในแต่ละบุคคลอาจมีแนวทางการตรวจรักษาที่ต่างกันไป เช่น ผู้ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ผู้ที่เป็นนักกีฬา และกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
ในปัจจุบัน มีผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 3 ล้านคนต่อปีจากทั่วโลก เพราะฉะนั้น จึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองสม่ำเสมอ หากกำลังทำกิจกรรมประจำวัน แล้วเกิดมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น ขึ้นมา นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรุนแรง โดยระยะเวลาของการอุดตันที่นานขึ้นจะเพิ่มพื้นที่การตายของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะเสียชีวิตกะทันหันได้
ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลนครธน,โรงพยาบาลนวเวช
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote
https://www.komchadluek.net/entertainment/524524