"ติดเชื้อโควิด" แม้ อาการ น้อย แต่ ผลข้างเคียง หนัก เจอ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
"ติดเชื้อโควิด" หมอดื้อ ยก ผลวิจัย แม้ อาการ น้อย แต่ ผลข้างเคียง หนักกว่าที่คิด เจอภาวะ "เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ" ต่อเนื่อง
อัปเดตสถานการณ์โควิด ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และตัวเลขผู้เสียชีวิต จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การติดเชื้อโควิด ยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง หลังจากหายจากการติดเชื้อโควิด ซึ่งพบว่า ภาวะ Long COVID คือภาวะที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด19 ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจจะเกิดตั้งแต่เริ่มเป็นโควิด ต่อเนื่องเป็นระยะยาว หรืออาจจะเกิดขึ้นภายหลังที่หายจากอาการทั้งหมดแล้ว อาการที่พบบ่อย คือการหายใจไม่อิ่มและไม่สุด มีอาการเหนื่อย เพลีย มึนศีรษะ คิดอะไรไม่ออก หรือซึมเศร้า และมีภาวะเครียด บางรายอาจปวดเมื่อย ปวดข้อ ใจสั่น โดยมักจะเป็นอยู่ในช่วงราว 1-3 เดือน หลังจากหายจากการติดเชื้อ ขณะเดียวกันก็พบว่า คนที่ติดโควิดแล้ว แม้อาการไม่มาก แต่ก็พบอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบต่อเนื่อง
"หมอดื้อ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลอ้างอิงผลการวิจัยจากประเทศเยอรมัน ระบุว่า จากการติดตามคน "ติดโควิด" อาการน้อย กักตัวที่บ้าน 346 ราย อายุเฉลี่ย 43.3 ปี (เทียบกับคนไม่ติดอายุเพศ เท่ากัน 95 ราย) ทั้งหมดไม่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจมาก่อน
ในระยะเวลา 77 ถึง 177 วัน เฉลี่ย 109 วัน 73% มีอาการทางหัวใจ เหนื่อยขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 62% ใจสั่น 28% เจ็บหน้าอก 27% และมีหน้ามืดเป็นลม 3% และมีความดันโลหิตตัวล่างสูงขึ้น การตรวจหัวใจด้วย MRI พบการอักเสบของหัวใจและเยี่อหุ้มหัวใจอักเสบ รวมทั้งมีแผลเป็น หรือเยื่อพังผืดที่กล้ามเนื้อหัวใจ การตรวจเลือด CRP hs troponin T N terminal pro-brain natriuretic peptide ไม่ไวพอที่จะระบุความผิดปกติเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม หน้าที่การทำงานในการบีบตัวของหัวใจห้องล่าง ทั้งด้านซ้ายและขวาผิดปกติในบางรายเท่านั้น การติดตามครั้งที่สองระหว่าง 274 ถึง 383 วัน หลังจากการติดเชื้อโควิด เฉลี่ยที่ 329 วัน ยังคงพบว่า 53% ยังคงมีอาการผิดปกติทางหัวใจ และคนที่ในตอนแรกปกติดี เกิดอาการทางหัวใจขึ้น 5% การตรวจเอ็มอาร์ไอ ทั้งกลุ่มทั่วไปดูดีขึ้น ยกเว้นแต่ในคนที่ยังคงมีอาการต่อเนื่อง
คณะผู้รายงานแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการติดเชื้อโควิด ที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายอวัยวะตัวเอง ในกรณีนี้คือกล้ามเนื้อหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจ แม้ว่าการติดโควิดนั้นจะอาการน้อยนิดหรือไม่มากก็ตาม
รายงานในวารสาร Nature Medicine
รายงานนี้พ้องกับรายงานอื่น ๆ ที่เจาะจงดูความผิดปกติในสมอง ในคนที่มีอาการน้อยตอนติดเชื้อ โดยพบว่ามีความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันและกระตุ้นให้เซลล์ในสมอง (microglia) ผลิตสารอักเสบมากขึ้น รวมทั้งเซลล์ที่สร้างสายใยประสาท (oligodendrocyte) และเซลล์ที่สมองส่วนความจำปัจจุบันบริเวณกลีบขมับ ทั้งด้านใน (hippocampus) ผิดปกติ และมีการสะสมตัวของโปรตีนอมิลอยด์ บิดเกรียวที่เป็นต้นเหตุของอัลไซเมอร์
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ ผ่านทาง วช อยู่ในระหว่างการทำการศึกษาลองโควิดโดยเน้นผู้ป่วยที่อาการไม่มาก หรือปานกลางตั้งแต่ต้น และผลกระทบต่อสมองในแง่การสะสมตัวของโปรตีน อมิลอยด์ และ ทาว และความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมอง NFL และ GFAP และระบบภูมิแปรปรวน
โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ คืออะไร
โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเยื่อหุ้มหัวใจจะมีลักษณะบาง ๆ ห่อหุ้มหัวใจ แบ่งเป็นสองชั้น ชั้นในจะติดกับหัวใจโดยตรง ส่วนชั้นนอกจะติดกับปอดและอวัยวะอื่น ๆ โดยระหว่างเยื่อหุ้มหัวใจสองชั้นนี้ จะมีน้ำหล่อลื่นที่ทำหน้าที่ป้องกันหัวใจของเราไม่ให้เสียดสี หรือกระทบกระเทือนกับอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้กับหัวใจในขณะที่หัวใจบีบตัวเข้าออก
เมื่อเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จะทำให้เกิดน้ำหนอง หรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ส่งผลให้หัวใจขยายตัวและบีบตัวไม่ดี สามารถเกิดได้ทั้งผู้ป่วยเพศชายและเพศหญิง แต่ส่วนมากมักเกิดในผู้ป่วยเพศชายช่วงอายุประมาณ 20-50 ปี และ 15-30% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแล้ว อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งในหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนต่อมา
โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งสามารถเกิดได้ 3 ลักษณะ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Acute pericarditis) คือการอักเสบที่เกิดกับถุงหุ้มหัวใจอย่างเฉียบพลัน มีอาการรุนแรง โดยทั่วไปมักรักษาให้หายภายใน 3 เดือน
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบกลับเป็นซ้ำ (Relapsing pericarditis) ลักษณะคือ
- เพื่อรักษาอาการเฉียบพลันจนอาการดีขึ้น แล้วมีอาการอักเสบซ้ำอีกรอบ
- โรคย้อนเป็นซ้ำอีกในภายหลังรักษาหาย และหยุดยาต่าง ๆ แล้วนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป
3. เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง (Chronic pericarditis) คือการอักเสบนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป
อาการของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- เจ็บแปลบในช่องอกช่วงบริเวณใต้ต่อกระดูกอกร่วมกับปวดไหล่ด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง อาการจะดีขึ้นเมื่อนั่งเอนตัวมาข้างหน้า แต่จะแย่ลงเมื่อนอนราบ และเจ็บแปลบเมื่อหายใจลึก ๆ หรือหายใจเข้าแรง ๆ
- มีไข้ อ่อนเพลีย และเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร
- ใจสั่น
- ความดันโลหิตต่ำ
- หายใจลำบาก ไอแห้ง ๆ
- เสียงการเดินหัวใจผิดปกติ
- หากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกมากถึงระดับเหมือนโดนมีดแทง และเป็นอาการปวดที่คล้ายกับอาการปวดจากภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) หรือหัวใจล้มเหลว ภาวะนี้ถือว่ามีความอันตรายอย่างสูงมาก และมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote