ไลฟ์สไตล์

"ยาตัวเองให้คนอื่นกิน" ทั้งที่ อาการ เหมือนกัน ทำ เสี่ยงตาย เพราะอะไร

"ยาตัวเองให้คนอื่นกิน" ทั้งที่ อาการ เหมือนกัน ทำ เสี่ยงตาย เพราะอะไร

17 ก.ย. 2565

ไขข้อข้องใจ "ยาตัวเองให้คนอื่นกิน" ทั้งที่ อาการ เหมือนกัน ทำได้หรือไม่ เปิดปัจจัย หากเสี่ยง กินยา อาจ เสี่ยงตาย ได้ เพราะอะไร

"ยาตัวเองให้คนอื่นกิน" จากกรณีบนโลกออนไลน์ ได้มีการแชร์เรื่องราวของ ยาย วัย 70 ปี ที่มีอาการแน่นอก แต่ไม่เหมือนมีอะไรมากดทับ ไม่มีปวดร้าวไปที่ไหน หายใจรู้สึกเหนื่อย หลังสำลักอาหาร เมื่อซักประวัติก็พบว่า มีการใช้ยาอมใต้ลิ้น ซึ่งเป็นยารักษาโรคหัวใจ ทั้งที่ไม่ใช่โรคประจำตัวของตัวเอง โดยพบว่า มีเพื่อนบ้านนำยาตัวนี้มาให้คุณยายกิน เพราะเห็นว่ามีอาการคล้ายกัน ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่า ไม่ควรเอายาตัวเองให้คนอื่นกิน แม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกันก็ตาม แล้วทำไมกินยาเหมือนกันที่คนอื่นกินทุกประการ แต่กลับไมได้ผลเหมือนคนอื่น หรือ เสี่ยงตายได้ อะไรที่เป็นสาเหตุของความแตกต่างเหล่านี้?

 

 

 

 

เภสัชกร ได้ให้ความรู้ ว่าทำไมเราจึงไม่ควรเอายาตัวเองให้คนอื่นกิน ซึ่งสามารถแยกปัจจัยได้ ดังนี้

 

ปัจจัยที่การตอบสนองต่อยาไม่เหมือนกัน

 

ปัจจัยทางด้านร่างกาย เช่น เพศ อายุ ความเป็นกรดด่างในทางเดินอาหาร การเคลื่อนไหวของลำไส้ การทำงานของตับ ไต พันธุกรรมของผู้ใช้ยา ความเจ็บป่วยอื่น ๆ ยาที่ใช้ร่วม


เพศ เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้การตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน บทบาทของฮอร์โมนเพศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก รวมทั้ง โครงสร้างของร่างกาย โดยที่เพศหญิงจะมีไขมันสะสมมากกว่า ดังนั้น ยาที่ละลายได้ดีในไขมันจะอยู่ในร่างกายได้นานกว่าเพศชาย


อายุ เป็นปัจจัยที่สัมพันธ์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา เพราะอายุที่มากขึ้น จะสัมพันธ์กับความเป็นกรดในทางเดินอาหารที่ลดลง (คือทางเดินอาหารเป็นด่างมากขึ้น) ทำให้ยาที่เป็นกรด ดูดซึมได้ไม่ดี แต่ยาที่เป็นด่างดูดซึมได้ดีมากขึ้น หรือยาที่ต้องอาศัยกรดในการละลาย (เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต) ก็จะดูดซึมได้ลดลง การเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารด้วยก็เช่นกัน

 

เมื่ออายุมากขึ้น ทางเดินอาหารก็จะเคลื่อนไหวลดลง ยาก็จะถูกลำเลียงส่งไปยังลำไส้ได้ช้า การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายก็จะช้าลงตามไปด้วย นอกจากนั้นแล้ว ตับไตที่ทำหน้าที่ได้ลดลงตามธรรมชาติ ก็จะทำให้ยาที่ต้องอาศัยตับไตในการขจัดออกนั้น คั่งค้างในร่างกายนานมากขึ้น จึงต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของตับไต
ยา

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของความเจ็บป่วยอื่น ๆ โรคประจำตัวบางอย่าง ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เมื่อได้รับยาบางชนิดเข้าไป ในขณะที่คนอื่นไม่เป็น เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง อาจทำให้ผู้ได้รับยากลุ่ม beta-blockers มีอาการของโรคกำเริบได้ ในขณะที่คนอื่นไม่เป็น หรือผู้ที่มีภาวะ G-6-PD deficiency เมื่อได้รับยาบางชนิด เช่น ซัลโฟนาไมด์ ก็จะเกิดเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลันจนเป็นอันตรายได้

 

 

ยาที่ใช้ร่วม : แต่ละคนมีโรคประจำตัวพื้นฐานไม่เหมือนกัน กินยาประจำตัวอื่น ๆ ไม่เหมือนกัน และนี่อาจส่งผลต่อการตอบสนองของยาได้ เช่น บางคนกินยารักษาวัณโรค ยากันชัก ยาต้านไวรัสบางชนิด ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ไม่เหมือนกันได้

 

พันธุกรรม : ถือเป็นสาเหตุหลักของความแตกต่างของการตอบสนองต่อยาในแต่ละบุคคล พันธุกรรมที่แตกต่างกันจะส่งผลให้มีความไวรับ (susceptibility) ต่อยาได้ไม่เท่ากัน พันธุกรรมมีผลต่อเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงยา ทำให้บางคนกินยาที่ขนาดหนึ่งได้ผล ในขณะที่อีกบางคนกินยาแบบเดียวกันขนาดเดียวกันแล้วเกิดพิษ

 

 

นอกจากนั้น พันธุกรรมมีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดการแพ้ยาด้วย เช่น บุคคลบางคนมียีน HLA-B*5801 ที่เพิ่มโอกาสในการแพ้ยาอัลโลพูรินอล หรือบุคคลบางคนมียีน HLA-B*1502 ที่เพิ่มโอกาสในการแพ้ยาคาร์บามาซีพีน ในสมัยก่อนที่องค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์มีไม่มาก เราไม่สามารถรู้ได้ว่า เพราะเหตุอะไรบางคนกินยานี้แล้วแพ้ บางคนไม่แพ้ แต่เมื่อมีองค์ความรู้ทางพันธุศาสตร์ที่มากขึ้นเราพบว่า “marker” บางชนิดในสารพันธุกรรมส่งผลกระทบต่อความไวรับในการแพ้ยา หรือการตอบสนองต่อยา นำไปสู่ศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า “เภสัชพันธุศาสตร์” (Pharmacogenomics) ทำให้เราเข้าใจบทบาทของความแปรผันทางพันธุกรรมต่อการตอบสนองต่อยาและการแพ้ยา ทำให้สามารถทำนายโอกาสการเกิดการแพ้ยาในบุคคลและหาทางหลีกเลี่ยงใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแพ้ได้

ยา

ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม/รูปแบบการการใช้ชีวิต/อาหารการกิน
 

เช่น อาหารที่กิน การบริโภคแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย อาชีพที่ทำ
 

แอลกอฮอล์และบุหรี่ : เป็นปัจจัยภายนอกที่ชัดเจนว่า ส่งผลกระทบต่อยารักษาโรคที่กิน แอลกอฮอล์และบุหรี่จะไปปรับเปลี่ยนสมรรถนะของเอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายยา ทำให้ยาหลายชนิดที่มีการออกฤทธิ์เปลี่ยนไปจากเดิม หรือแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ “เสริม” กับฤทธิ์ของยานั้น ๆ จนเกิดเป็นอันตราย เช่น การกินยาที่มีผลกดระบบประสาทส่วนกลางร่วมกับแอลกอฮอล์ก็จะมีผลต่อการกดประสาทอย่างรุนแรงได้
 

 

อาหารที่กิน : ผลไม้บางชนิดที่มีผลต่อสมรรถนะของเอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายยา เช่น grapefruit ก็จะเกิดปฏิกิริยากับยาหลายชนิดได้ หรือการประกอบอาชีพที่ได้สารบางอย่างที่ไปเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของเอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายยา
 

 

ดังนั้น ยาตัวเองให้คนอื่นกิน จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ถึงแม้ว่าอาการอาจคล้ายกัน แต่อาจเกิดจากโรคและสาเหตุที่ไม่เหมือนกัน หรือถ้าป่วยโรคเดียวกัน แต่ปริมาณและความเข้มข้นของยาอาจไม่เท่ากัน เพราะผลเสียอาจตามมามากกว่าที่คาดคิดก็เป็นได้ 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เภสัชกร Pharmchompoo

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่

Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote  

https://www.komchadluek.net/entertainment/524524