'ท้องร้อง' อาจไม่ได้แปลว่า หิว เสมอไป แล้วเกิดจากอะไร เช็กอาการ อาจเสี่ยงโรค
'ท้องร้อง' เสียง ท้องร้องโครกคราก อาจไม่ได้แปลว่า หิว เสมอไป แล้วเกิดจากอะไร ทำไม สมอง สั่งการ เช็กอาการ อาจเสี่ยงโรค ได้
ท่ามกลางความเงียบ แล้วอยู่ ๆ ก็มีเสียงท้องร้องโครกครากออกมา เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ จนคิดว่า กำลังเกิดความหิว แต่บางครั้งท้องร้อง ไม่ได้เกิดจากความหิว หรือเพิ่งทานข้าวอิ่ม ท้องก็ยังร้องเสียงดัง รู้หรือไม่ว่า สาเหตุที่ท้องร้อง อาจไม่ใช่หิวเสมอไป
แต่อาการท้องร้องเสียงดังมีสาเหตุมาจากสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมความรู้สึกหิวของเรา กำลังจัดลำดับการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ้าในเลือดมีสารอาหารเพียงพอ สมองก็จะสั่งให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง แต่เมื่อใดที่มีสารอาหารในเลือดน้อย ระบบย่อยอาหารจะทำงานเร็วขึ้น และกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารจะหดตัวแรงกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการสั่นของกระเพาะอาหาร เราจึงได้ยินเสียงท้องร้องโครกคราก
แม้ว่าเสียงท้องร้อง จะเกิดขึ้นบ่อย ๆ เมื่อหิว แต่จริง ๆ แล้วสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะตอนที่กระเพาะอาหารว่างหรือไม่ก็ตาม และยิ่งกว่านั้น เสียงท้องร้องที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากกระเพาะอาหารเท่านั้น แต่สามารถมาจากลำไส้เล็กได้อีกด้วย เช่น เสียงท้องร้องตอนกินข้าว ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กบีบตัว เพื่อคลุกเคล้าอาหาร และทำการย่อย
นอกจากนี้ การกินอาหารในปริมาณที่มาก อาหารที่มีรสจัด อาจทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้เร็วขึ้น มีการบีบตัวของทางเดินอาหารมากขึ้น สำหรับคนที่มีรูปร่างเล็ก จะมีเสียงท้องร้องโครกครากที่ชัดกว่าคนที่มีรูปร่างใหญ่ และถ้านอนหงายก็จะเกิดอาการท้องร้องได้ง่ายขึ้น เพราะลำไส้บีบตัวได้สะดวกกว่า แต่หากอาการท้องร้องเกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือร้องเสียงดัง อาจเกิดได้จาก
1. อาหารค้างในลำไส้เล็กมาก จากการกินอาหารปริมาณมากไป ลำไส้จึงใช้เวลานานในการย่อย
2. กินอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ๆ หรือเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้อาหารตกค้างในลำไส้เล็กเช่นกัน
3. สาเหตุเดียวกันกับที่ทำให้เกิดท้องอืด ซึ่งอาการท้องอืดคือการมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้มากไป ทำให้เวลากระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัว ยิ่งเกิดเสียงดังได้มากกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ท้องอืด ได้แก่
- การกลืนอากาศเข้าไปปริมาณมาก จากการอ้าปาก พูดคุย หัวเราะ หรือหายใจทางปาก การกินหรือดื่มเร็วเกินไป การใช้หลอดดูดเครื่องดื่ม การเคี้ยวหมากฝรั่ง
- การกินอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส หรือเครื่องดื่มที่มีแก๊ส เช่น น้ำอัดลม ถั่วต่าง ๆ เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ
- การกินยาบางชนิด ยาแก้ปวดชนิดเสพติด อาหารเสริมธาตุเหล็ก
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล โรคกรดไหลย้อน
- ขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น น้ำย่อยย่อยโปรตีนนม แล้วได้ดื่มนมเข้าไป
4. มีความเครียด วิตกกังวล ส่งผลให้กระบบย่อยอาหารทำงานไม่ดี อาหารตกค้างในลำไส้ได้เช่นกัน
5. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อการย่อยละดูดซึมอาหาร แต่มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องเสียสลับท้องผูก อุจจาระมีมูกปน เป็นต้น
6. ลำไส้อุดตัน ทำให้อาหารและน้ำค้างอยู่ในลำไส้ แต่จะไม่มีการถ่ายอุจจาระ หรือผายลมออกมา มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เป็นต้น
คำแนะนำเบื้องต้น
ลดปริมาณอาหารที่กินลงในแต่ละมื้อ กินอาหารที่ย่อยง่าย ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารต้องรสไม่จัด เคี้ยวช้า ๆ ให้ละเอียด ไม่กินและกลืนเร็ว ไม่ดื่มน้ำอัดลม อัดแก๊สต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทถั่ว และธัญพืช รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอดต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ เสียงท้องร้องโครกคราก มักเป็นสภาวะที่ไม่อันตราย อาจมีส่วนน้อยที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มีสภาวะอันตรายเกิดขึ้น แต่มักจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การปวดท้องรุนแรง จุกเสียด อาเจียน อาจจะส่งผลก่อใหเ้กิดโรคอื่น ๆ ตามมา ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาให้ทันท่วงที