ไลฟ์สไตล์

"โรค PTSD" สภาวะป่วยทางใจ หลัง เผชิญเหตุ รุนแรง ใน ชีวิต อาการ เป็นอย่างไร

"โรค PTSD" สภาวะป่วยทางใจ หลัง เผชิญเหตุ รุนแรง ใน ชีวิต อาการ เป็นอย่างไร

07 ต.ค. 2565

ทำความรู้จัก "โรค PTSD" สภาวะป่วยทางใจ หลังต้อง เผชิญเหตุ รุนแรง ใน ชีวิต เด็ก ก็เป็นได้ อาการ เป็นอย่างไร รักษาหาย หรือไม่

หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แบบฉับพลัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง จนเกิดความเครียด เช่นเหตุการณ์ “กราดยิงหนองบัวลำภู” ซึ่งคนที่เผชิญเหตุการณ์นั้น ๆ รอดชีวิตมาได้ หรือว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรง จนทุกทรมาน ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ตามมา โดยหนึ่งในโรคที่สำคัญ คือ โรค PTSD หรือ สภาวะป่วยทางใจ แล้วโรคนี้ มีอาการ และวิธีการรักษา อย่างไร ไปทำความรู้จักกัน

โรค PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder เป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย เช่น การก่อการร้าย สงคราม การถูกข่มขืน ประสบภัยพิบัติ ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจจะเป็นผู้ที่ประสบเหตุการณ์โดยตรง หรือเป็นผู้ที่ได้รับการสูญเสียจากเหตุการณ์ทางอ้อม

 

 

อาการผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นภาวะ PTSD 

 

  • ระยะที่หนึ่ง ช่วงแรกประมาณ 1 เดือน เรียกว่าระยะทำใจ (Acute Stress Disorder) หรืออาการเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการเครียด แล้วเกิดอาการทางประสาทขึ้นมาได้
  • ระยะที่สอง (PTSD: Post-Traumatic Stress Disorder) คือ กินระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน บางคนอาจจะยาวนานหลายเดือน หรือนานเป็นปีแล้วแต่บุคคล

สภาวะป่วยทางใจ PTSD

อาการ ของ โรค PTSD

 

  • เห็นภาพเหตุการณ์นั้น ซ้ำ ๆ ราวกับเครื่องเล่นวิดีโอที่ฉายแต่ภาพเดิม ๆ วนไป ทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพหลอน ฝันร้าย และเกิดความวิตกกังวลอย่างรุนแรง
  • เกิดอาการ flash back คือ เกิดความตื่นตัว เห็นเหตุการณ์นั้น ๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้ เกิดอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว ซึ่งเดิมไม่เคยเกิดขึ้น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดได้กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
  • มองโลกในแง่ลบ ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่มีความสุข ชีวิตหม่นหมอง มีอาการไม่สนใจในสิ่งที่เคยชอบทำ รู้สึกแปลกแยก และอาจร้ายแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
  • กลัวและพยายามหลีกเลี่ยง ไม่กล้าเผชิญเหตุการณ์ที่เคยประสบเหตุ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์นั้น ๆ

 

ภาวะแทรกซ้อนจากโรค PTSD

 

  • โรคที่มีผลทางด้านจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัว โรควิตกกังวล เป็นต้น
  • พฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น การหันมาใช้สารเสพติด หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืออาจทำร้ายตนเอง เป็นต้น
  • อาการทางร่างกาย เช่น มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดหน้าอก เป็นต้น

 

เด็ก ก็เป็น โรค PTSD ได้

 

พญ.ชนนิภา บุตรวงศ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อธิบายว่า ความแตกต่างของโรค PTSD ในเด็กและผู้ใหญ่ คือปัญหาเรื่องการสื่อสารและการแสดงออก เมื่ออาการนี้เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ จะมีการแสดงอาการที่ตรงไปตรงมา สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมอย่างชัดเจน และยังสามารถอธิบายอาการได้ว่า เขามีความคิดอย่างไร เห็นภาพอะไร หรือกำลังรู้สึกอะไรอยู่

 

แต่เมื่อโรค PTSD เกิดขึ้นในเด็ก แม้จะมีการแสดงออกทางกายที่เหมือนกับผู้ใหญ่ แต่การสื่อสารและการอธิบายอาการที่เป็นอยู่ จะค่อนข้างยากสำหรับเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่มีความเข้าใจต่อโรค ไม่เข้าใจสภาวะของตัวเอง และไม่รู้จะสื่อสารอาการของตัวเองออกไปอย่างไร ดังนั้น ผู้ปกครองอาจวินิจฉัยโรคได้จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งมักพบว่า เด็กจะเสียทักษะทางพัฒนาการบางอย่างที่เคยทำได้ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง

โรค PTSD ในเด็ก

 

การรักษาภาวะ PTSD

 

บำบัดทางจิตใจ เรียนรู้และรับมือ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวต้องพยายามเรียนรู้การจัดการกับความเครียด เช่น หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย การออกไปพบปะผู้คน หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เป็นต้น

ดูแลตนเองมากขึ้น ไม่ควรบริโภคของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่เสพสารเสพติด และเพิ่มเวลาในการพักผ่อนให้มากขึ้นกว่าเดิม

 

การรับยาจากแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาที่สามารถลดความเครียดหรือช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ ทั้งนี้การใช้ยาต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

 

การบำบัด สามารถเข้าพบแพทย์ เพื่อพูดคุยปรึกษาเพื่อปรับให้สามารถค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความคิดได้ หรือเลือกที่จะเผชิญกับสิ่งที่เรากลัว และเรียนรู้วิธีการรับมือที่ถูกต้อง แต่วิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้การได้รับการดูแลพูดคุย หรือสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็สามารถบำบัดได้เช่นกัน

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลพญาไท

 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w