"ไข้ดิน" เสียชีวิตแล้ว 5 โรคใหม่ มาพร้อมฝน ดิน น้ำ ติดผิวหนังสู่อวัยวะภายใน
"โรคไข้ดิน" หรือ "โรคเมลิออยโดสิส" โรคติดเชื้อจาก น้ำ - ดิน สุดอันตราย ที่ควรเฝ้าระวัง พบระบาดหนักในช่วงหน้าฝน
"โรคเมลิออยโดสิส" หรือ "โรคไข้ดิน" เป็นโรคติดเชื้อในช่วง "ฤดูฝน" สาเหตุหลักเกิดจาก แบคทีเรีย ชนิดหนึ่งที่ปนเปื้อนได้ใน น้ำ และ ดิน แพร่กระจายสู่คนผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือโดยการติดต่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เป็นโรคติดเชื้อที่ใน ประเทศไทย ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรคทำให้เสียชีวิตได้ หากติดเชื้อในกระแสเลือด จึงควรทำการศึกษาร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจและปฏิบัติตนให้เหมาะสม ซึ่งล่าสุดได้เกิดการระบาดที่ จ.สงขลา โดยพบผู้ป่วย 7 ราย เสียชีวิตแล้ว 5 ราย ซึ่ง "โรคเมลิออยโดสิส" เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Burkholderia pseudomal lei (B. pseudomallei) ก่อให้เกิดอาการหลายลักษณะ ได้แก่ ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในอวัยวะภายใน (ตับ ไตสมอง กระดูก)
การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง
อาจทำให้เกิดอาการแผลเรื้อรัง เกิดฝีหรือหนองตามผิวหนัง และอาจมีตุ่มขึ้น เป็นที่อยู่ของเชื้อ แบคทีเรีย หากรับเชื้อผ่านทางน้ำลาย เช่น การรับประทาน จะทำให้ติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย มีลักษณะบวมขึ้นมาเป็นฝีหรือหนอง หรืออาจบวมบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ มีอาการกดเจ็บได้
การติดเชื้อในปอด
จะทำให้มี อาการไข้ขึ้น และอาการทางเดินหายใจ ไอ มีเสมหะ หากนำเสมหะมาตรวจดูอาจพบเชื้อได้ และหากเอ็กซเรย์ที่ปอดอาจพบก้อนหนอง บางครั้งแพทย์สับสนระหว่างวัณโรค
การติดเชื้อในกระแสเลือด
เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนังหรือปอด เช่น กรณีที่มีบาดแผล เชื้ออาจเข้าทางบาดแผลและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ความดันโลหิตต่ำ ช็อค เป็นฝีในตับหรือในม้าม สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากการติดเชื้อตามที่กล่าวมา ยังมีการติดเชื้อชนิดเรื้อรังอีกหนึ่งประเภทใน "โรคเมลิออยโดสิส"
ความอันตรายของ "โรคเมลิออยโดสิส"
คือการวินิจฉัยโรคช้าเกินไปทำให้รักษาไม่ทันเวลา ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตตามมา เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดภาวะไตวาย หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ทำให้อวัยวะอื่นทำงานบกพร่องไป การได้รับยาไม่ถูกชนิดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้
ตัวเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ ผ่านทางผิวหนัง เช่น หากมีบาดแผลและเดินบนดินหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผ่านทางลมหายใจ กรณีที่มีการฟุ้งของฝุ่นหรือดินที่มีเชื้ออยู่และสูดดมเข้าไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด จะส่งผลให้เกิดอาการ ปอดอักเสบ
ในคนดูแลผู้ป่วยที่เป็น "โรคเมลิออยโดสิส" หากสัมผัสไปโดนสารคัดหลั่งก็มีโอกาสติดเชื้อได้ รวมถึงผู้ที่ดูแลวัวหรือควายซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถป่วยเป็น โรคเมลิออโดสิส ได้ มีความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับเชื้อที่อยู่ในซากสัตว์ที่ตายไปแล้วและถูกฝัง เชื้อจะคงอยู่ในดินบริเวณนั้นและอยู่ตลอดไป หากมีการสัมผัสที่ดินบริเวณนั้นก็มีโอกาสได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
กลุ่มเสี่ยงได้แก่
"โรคเมลิออยโดสิส" ติดต่อสู่ทุกเพศทุกวัยได้ แม้กระทั่งในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม แต่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหรือมีภาวะต่อไปนี้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงกว่าปกติ
- วัยกลางคนหรือผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและภาวะไตวาย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด
- โรคเบาหวาน
- โรคไต โรคตับ
- โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง หรือโรคทางภูมิคุ้มกันที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อเอชไอวี
- โรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคซิสติก ไฟโบซิส (Cystic Fibrosis) โรคหลอดลมพอง
- โรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic heart disease) หรือภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคที่ทำให้มีภูมิต้านทานต่ำจากการทำงานผิดปกติของเม็ดเลือดขาว
- ผู้ที่ติดสุรา
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ที่มีภาวะธาตุเหล็กสะสมในปอด
- ผู้ติดเชื้อ วัณโรค
"โรคเมลิออยโดสิส" สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการวินิจฉัยถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก รักษาโดยการให้ ยาปฏิชีวนะ ใน 2 สัปดาห์แรกด้วยวิธีฉีด หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาชนิดกินต่อไปเป็นเวลา 5 เดือน หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจให้ยาเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม
ที่มา : อ.นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล // Pobpad
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w