รู้จัก "โรคคิดไปเองว่าป่วย" เป็นแล้ว รักษาไม่หาย เจอมากสุด อายุ 20-30 ปี
"โรคคิดไปเองว่าป่วย" Hypochondriasis เมื่อหาหมอซ้ำกี่รอบ ก็ไม่เชื่อคำ วินิจฉัย มีด้วยหรือ? อาการเป็นอย่างไร เจอมาสุด กลุ่มอายุ 20-30 ปี รักษาไม่หาย
หากพูดถึงโรคภัยไข้เจ็บ มีสารพัดโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง แต่ในทางการแพทย์ ยังมีอีกโรคหนึ่ง ที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน หรือไม่เคยรู้จักมาก่อน กับโรคที่มีชื่อว่า "โรคคิดไปเองว่าป่วย" หรือ Hypochondriasis ผู้ป่วยจะมีความเชื่อว่า ตนเองป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง และถึงแม้จะหาหมอเป็นสิบ ๆ ครั้ง และหมอบอกว่าไม่ได้เป็นอะไร ก็จะไม่ยอมเชื่อง่าย ๆ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย แล้วอาการของโรคคิดไปเองว่าป่วย เป็นอย่างไร รักษาหายหรือไม่ และสาเหตุใดถึงทำให้ป่วยด้วยโรคชื่อประหลาดนี้
รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า อาการดังกล่าวเกิดขึ้นจาก "ความวิตกกังวล" ของคนไข้เอง เกิดจากอาการทางกายบางอย่าง หรือหลายอย่าง ทำให้คนไข้เกิดความวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา ที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือต่อชีวิต เช่น อาการปวดท้อง อาจเป็นอาการท้องอืด ท้องเฟ้อธรรมดา แต่ในคนที่ป่วยเป็นโรคคิดไปเองว่าป่วยจะความรู้สึกไวกว่าคนปกติ และรู้สึกว่าปวดท้องหนักมาก ทำให้กังวลว่าจะเป็นโรคร้าย เป็นต้น เมื่อพบแพทย์แล้วแพทย์ทำการวินิจฉัยว่าไม่ได้ป่วยก็จะไม่ยอมเชื่อ ทำให้ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น เพราะคนกลุ่มนี้จะเชื่อว่าตัวเองป่วยจริง ๆ
คนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกว่าตัวเองป่วยจริง ๆ และไม่ได้แกล้งทำ ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึกของบุคคลนั้น ขณะที่บางรายมีอาการทางกายบางอย่าง แต่บางรายก็อาจไม่ได้มีอาการเลยก็ได้ เช่น การนั่งใกล้ผู้ติดเชื้อ HIV แล้วกังวลว่าตนเองจะได้รับเชื้อมาทางระบบทางเดินหายใจ เมื่อพบแพทย์และทำการวินิจฉัยโรคว่าไม่พบ ก็จะหายกังวลไปได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แล้วกลับมากังวลใหม่ และพบแพทย์ใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ
ระดับความรุนแรงของ โรคคิดไปเองว่าป่วย
บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ที่พบมากจะอยู่ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี ส่วนมากคนที่มีความกังวล จะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับโรคนั้น ๆ เช่น การกังวลถึงการติดเชื้อ HIV ซึ่งเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ คนที่มีพฤติกรรมนี้ก็จะมีความกังวลต่อโรคนี้เป็นพิเศษ แต่ถ้าหากเป็นผู้สูงอายุที่เห็นคนใกล้ตัวเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ หรือพบเห็นข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยโรคหัวใจบ่อย ๆ ก็จะมีความกังวลต่อโรคนี้มากกว่าโรคอื่น ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้การเป็นโรคของคนในครอบครัว ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความกังวล เช่นผู้ป่วยบางรายที่อาจเคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เมื่อตัวเองมีอาการแน่นหน้าอก ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดทั่วไป หากในคนปกติก็จะถอนหายใจสักสองสามครั้ง นั่งพักสักครู่ก็หาย แต่ถ้าเป็นคนป่วยด้วยโรคคิดไปเองว่าป่วย ซึ่งอาจมีความกังวลในเรื่องของโรคหัวใจอยู่แล้ว จากคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้มาก่อน เมื่อถอนหายใจแล้วจะสามารถหายไปได้ช่วงหนึ่ง แต่ก็จะกลับมาเป็นใหม่ เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวอยู่
วิธีการสังเกตว่าเป็น โรคคิดไปเองว่าป่วย
ให้สังเกตที่จำนวนครั้งในการพบแพทย์ ในคนทั่วไป หากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคอะไรอยู่ อาจมีการพบแพทย์ซ้ำเป็นครั้งที่สอง หากไม่เชื่อคำวินิจฉัยของแพทย์ในครั้งแรก อาจคิดว่าแพทย์ตรวจไม่พบ หรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อพบแพทย์ครั้งที่สองแล้วไม่พบโรคอีก ก็จะเลิกพบไปในที่สุด แต่ถ้าหากมีการพบแพทย์ซ้ำมากกว่าสองครั้งขึ้นไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรค Hypochondriasis อยู่
การวินิจฉัย
จะมีการตรวจทั้งทางกายและใจร่วมกัน ก่อนอื่นต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าคนไข้ไม่ได้เป็นโรคที่กังวลอยู่จริง ๆ หรือถ้าหากตรวจพบตามอาการที่คนไข้บอก ก็ต้องแน่ใจก่อนว่า อาการนั้นไม่ใช่โรคร้ายที่คนไข้กังวลอยู่ นั่นเป็นการตรวจทางกาย แล้วจึงตรวจทางใจร่วมกัน
วิธีการรักษา
โดยทั่วไปค่อนข้างรักษายาก เพราะเกิดจากความกังวลและเป็นตัวตนของคนไข้เอง ก่อนอื่นก็ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจก่อนว่า ร่างกายของคนไข้ปกติดี ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร ซึ่งต้องอาศัยท่าทีที่น่าเชื่อถือของแพทย์ร่วมด้วย หรืออาจอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงหรือเป็นโรคร้าย ขั้นต่อไปคือการให้ยาลดความวิตกกังวล รวมถึงการฝึกฝนคนไข้ใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมอง ความคิดของตัวเอง เกี่ยวกับอาการป่วยที่คนไข้กังวลอยู่ ในขั้นนี้จะเรียกว่าจิตบำบัด ที่สำคัญที่สุดคนรอบข้างต้องให้ความเข้าใจ
ในตัวคนไข้อย่างมาก
ขอบคุณ : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057