ไลฟ์สไตล์

รู้จัก "โรคลมหลับ" ภัยเงียบ จากการ นอนหลับ อันตราย ตายได้ไม่รู้ตัว

รู้จัก "โรคลมหลับ" ภัยเงียบ จากการ นอนหลับ อันตราย ตายได้ไม่รู้ตัว

26 มี.ค. 2567

"ผีอำ" ไม่ได้แปลว่า ผีหลอก แต่เกิดจาก "โรคลมหลับ" ภัยเงียบ จากการ นอนหลับ อันตราย ตายได้ไม่รู้ตัว นั่งก็หลับ กินก็หลับ เกิดจากอะไร

(29 ต.ค.2565) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า "โรคลมหลับ" หรือ Narcolepsy เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักจะมีอาการง่วงมากในตอนกลางวัน แม้ว่าตอนกลางคืนจะนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอและบางครั้งพบว่า มีการนอนหลับเกิดขึ้น ในสถานการณ์ไม่เหมาะสม เช่น เกิดขึ้นขณะพูดคุยกับบุคคลอื่น ขณะรับประทานอาหาร ทำงาน เรียน เล่นเกมส์ หรือ ขับรถ จนอาจเกิดอันตรายได้ และบางครั้งเหมือนอาการ ผีอำ

อาการของ โรคลมหลับ

 

  1. ง่วงนอนมากผิดปกติ มักเป็นอาการแรกของผู้ป่วยโรคนี้ ผู้ป่วยจะหลับในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ในห้องเรียน หลังอาหาร โรงภาพยนตร์ ขณะเขียนหนังสือ หรือแม้แต่ขณะกำลังสนทนา การนอนช่วงสั้นๆจะช่วยให้ สดชื่นขึ้นได้
  2. Cataplexy (ผลอยหลับ คือมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก เวลาที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เป็นต้น)
  3. Sleep paralysis (ผีอำ) เป็นภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น (คล้ายผีอำ) เป็นอาการที่ น่าตกใจแต่ไม่อันตราย
  4. Hypnagogic hallucination (เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ) เห็นภาพหลอนขณะที่กำลังจะหลับ โดยอาจเห็นเป็นสัตว์ประหลาดหรือสิ่งที่น่ากลัวต่าง ๆ ได้

 

อาการอื่น ๆ ของ โรคลมหลับ

 

  • พฤติกรรมที่ทำโดยไม่รู้สึกตัว ขณะหลับอาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น ขับรถ ทำอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
  • นอนไม่หลับในเวลากลางคืน สมองควบคุมการหลับตื่นผิดปกติทำให้นอนไม่หลับตอนกลาง คืนได้
  • ไม่มีสมาธิ
  • ปวดศีรษะ
  • ขี้ลืม
  • ซึมเศร้า

โรคลมหลับ

สาเหตุของโรคลมหลับ

 

สำหรับสาเหตุของโรค ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่ชื่อ โอเร็กซิน (Orexin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการตื่นของร่างกาย ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สารเคมีชนิดนี้ลดลง ส่งผลให้มีอาการหลับง่ายกว่าปกติ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติด้านการนอนหลับ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้

 

 

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการแสดงที่สำคัญนอกจากจะมีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติตอนกลางวันแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ภาวะผีอำ หรือ sleep paralysis โดยที่ไม่สามารถขยับตัวได้ตอนที่กำลังใกล้จะตื่น และมีอาการเห็นภาพหลอนตอนขณะเคลิ้มหลับ

 

โรคลมหลับ

 

การวินิจฉัยโรคลมหลับ

 

แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการสอบถามประวัติโรคประจำตัว และยาที่ใช้เป็นประจำ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคลมหลับ ในรายที่แพทย์สงสัยอาการเข้าได้กับโรคนี้ จะให้ผู้ป่วยบันทึกการนอนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และส่งตรวจการนอนหลับ (polysomnogram) ร่วมกับการตรวจความง่วงนอน (multiple sleep latency test) 

 

การรักษาโรคลมหลับ

 

ในปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการไม่ให้รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ด้วยการใช้ยากระตุ้นเพื่อให้รู้สึกตื่นตัว ซึ่งการใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการจัดตารางเวลาในการนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7- 8 ชั่วโมง เพิ่มการงีบหลับสั้น ๆ ในช่วงกลางวันเพื่อลดความง่วงที่เกิดขึ้น ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายหากเกิดอาการได้แก่ การขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักร ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ ทางออกที่ดีคือ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057