ไลฟ์สไตล์

รู้จัก "Altitude sickness" โรคจากขึ้นที่สูง ภาวะที่ นักปีนเขา ควรระวัง

รู้จัก "Altitude sickness" โรคจากขึ้นที่สูง ภาวะที่ นักปีนเขา ควรระวัง

21 พ.ย. 2565

รู้จัก "Altitude sickness" โรคจากขึ้นที่สูง ภาวะที่ นักปีนเขา ควรระวัง เกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย พร้อมแนะวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดภาวะเช่นนี้ ควรทำอย่างไร

จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์ นักปีนเขาชาวไทย 2 คน ได้เสียชีวิตในระหว่างการร่วมภารกิจเดินป่าในระยะไกล หรือ เทรคกิ้ง บริเวณช่องเขา เมโสกันโตลาพาส ในเขตมัสตาง ทางตอนเหนือของ เนปาล ซึ่ง หญิงไทยทั้ง 2 คน มีอาการป่วย และได้รับบาดเจ็บจากภาวะหิมะกัด 

 

 

ซึ่งการเดินทางไกล หรือ การปีนเขา นั้น นอกจากจะต้องเรียนรู้ขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ การฝึก indoor ก่อนลงสนามจริง การวางแผนยังรวมไปถึงสภาพความพร้อมของร่างกายด้วย ซึ่งสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างปีนเขา คือ ภาวะ "Altitude sickness" หรือ โรคจากขึ้นที่สูง โดย คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปรู้จักกับโรคนี้กัน

 

โรคจากขึ้นที่สูง "Altitude sickness" หรือ Altitude illness หรือ Mountain sickness คือ กลุ่มอาการที่เกิดเนื่องจากการขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ที่สูงมากกว่าพื้นที่ทั่วไปมาก เช่น การขึ้นภูเขาสูง หรือไปอยู่ในประเทศที่อยู่ในแถบพื้นที่สูงๆ ของโลก เช่น ทิเบต เป็นต้น อาการ คือ ปวดศีรษะ วิงเวียน เหนื่อยมาก หายใจลำบาก เบื่ออาหาร อาจ คลื่นไส้ อาเจียน โดยมักเกิดอาการได้ตั้งแต่สถานที่นั้นๆมีความสูงตั้งแต่ประมาณ 2,100 - 2,500เมตร (7,000 - 8,000 ฟุต) จากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป

 

ทั้งนี้ ระดับพื้นที่ที่จัดว่าสูงที่จะก่อให้เกิดอาการของโรคจากขึ้นที่สูง โดยแบ่งตามความสูง (ซึ่งอาการที่เกิดจะรุนแรงขึ้นตามความสูงที่เพิ่มขึ้น) เป็น 3 ระดับ คือ

 

- พื้นที่สูง (High altitude) คือความสูง 1,500-3,500 เมตร (5,000-11,500 ฟุต) จากระดับ น้ำทะเลปานกลาง

- พื้นที่สูงมาก (Very high altitude) คือความสูง 3,500-5,500 เมตร (11,500-18,000ฟุต)

- พื้นที่สูงสุดขีด (Extreme altitude) คือสูงเหนือ 5,500 เมตร (18,000 ฟุต) ขึ้นไป

 

ปีนเขา

 

 

ในการท่องเที่ยวทั่วไป มักจะท่องเที่ยวอยู่ในระดับความสูงประมาณไม่เกิน 5,000 เมตร ซึ่งเมื่อเกิดโรคจากขึ้นที่สูง อาการมักอยู่ในระดับไม่รุนแรง เรียกว่า "Acute mountain sickness เรียกย่อว่า เอเอมเอส (AMS)" ซึ่งพบเกิดอาการ AMS ได้ประมาณ 9 - 40% เมื่ออยู่ในที่สูงระดับไม่เกิน 3,500 เมตร และประมาณ 15 - 58% เมื่อความสูงอยู่ในช่วง 3,500 - 5,000 เมตร

 

โรคจากขึ้นที่สูง พบเกิดได้กับทุกเพศและทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วย โดยอัตราเกิดในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน

 

โรคจากขึ้นที่สูง เกิดได้อย่างไร ?

 

กลไกการเกิด โรคจากขึ้นที่สูง ยังไม่ทราบชัดเจน แต่การศึกษาสนับสนุนว่า เกิดจากร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เนื่องจาก ในที่สูง/การขึ้นเขาสูง ออกซิเจนในอากาศจะเจือจางลง และความดันอากาศจะลดต่ำลง ส่งผลให้ให้ความดันออกซิเจนในเลือดต่ำลงด้วย รวมทั้งอากาศที่หนาวเย็น จะส่งผลให้ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น เพื่อใช้ให้พลังงานเพื่อคงอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังมักมีภาวะขาดน้ำ จากการใช้พลังงาน/เสียเหงื่อในการขึ้นเขา และน้ำที่ระเหยจากการหายใจที่เมื่อขึ้นเขา ทุกคนจะหายใจเร็วขึ้น(ภาวะระบายลมหายใจเกิน/Hyperventilation) ทั้งหมดจึงส่งผลให้เกิด ภาวะร่างกายขาดออกซิเจน(Hypoxia หรือ ภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย), ภาวะเลือดเป็นด่างจากคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดต่ำจากหายใจออกมากผิดปกติ/ภาวะระบายลมหายใจเกิน, และภาวะขาดน้ำ

 

ภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย และภาวะขาดน้ำ จะส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต/เลือด ความดันโลหิตจะต่ำลง ร่างกายต้องปรับตัวเพื่อคงความดันโลหิต และเพื่อให้อวัยวะสำคัญ คือ สมอง และปอดได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ร่างกายจึงหลั่งสารเคมีในกลุ่ม Catecholamines ซึ่งจะกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หัวใจเต้นเร็ว แรงขึ้น เพิ่มความดันโลหิต และเพิ่มการทำงานของผนังหลอดเลือด

 

ภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย ยังกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตของปอดและของสมอง เพื่อเพิ่มเลือด เพื่อเพิ่มออกซิเจน

 

ภาวะต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการในเบื้องต้นที่เรียกว่า "Acute Mountain sick ness (AMS)" ซึ่งถ้าปรับตัวได้และดูแลตนเองได้ทัน อาการต่างๆ มักฟื้นกลับเป็นปกติได้ภายใน 2-3 วัน

 

แต่ถ้าร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวได้ หรือมีการขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีเลือดคั่งในเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น มือ เท้า แต่ที่สำคัญ และที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง คือ เลือดคั่งในปอด และในสมอง ซึ่งเมื่อมีเลือดคั่ง น้ำจากหลอดเลือดจะซึมออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือด จึงก่อให้เกิดมีการบวมของ มือ เท้า แต่ที่สำคัญ คือมีน้ำคั่งในเนื้อเยื่อปอด/ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) เกิดอาการที่เรียกว่า "เอชเอพีอี (HAPE หรือ High altitude pulmonary edema)" และสมองบวมน้ำจากมีน้ำคั่งในเนื้อเยื่อสมอง (Brain edema) เกิดอาการที่เรียกว่า "เอชเอซีอี (HACE หรือ High altitude cerebral edema)" ซึ่งทั้งสองอาการจัดเป็นอาการที่รุนแรง อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

 

โรคจากขึ้นที่สูง

 

โรคจากขึ้นที่สูง มีอาการอย่างไร ? มีความรุนแรงอย่างไร ?

 

อาการของ โรคจากขึ้นที่สูง มีได้ 3 กลุ่มอาการตามความรุนแรงของอาการจากน้อยไปหามาก คือ AMS, HAPE, และ HACE

 

ก. AMS (Acute Mountain sickness) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยที่สุด รุนแรงน้อยที่สุดในทั้ง 3 กลุ่มอาการ มักเกิดขึ้นประมาณ 6 - 10 ชั่วโมงหลังจากการขึ้นไปอยู่ในที่สูง อาการแรกสุด คืออาการปวดศีรษะ แต่ปวดไม่มาก

 

และมีการร่วมดังต่อไปนี้อีกอย่างน้อย 1 อาการ คือ

 

- อ่อนเพลีย

- รู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนล้า ไม่มีแรง

- มีอาการทางด้านทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

- หัวใจเต้นเร็ว (ชีพจรเต้นเร็ว) เหนื่อย หายใจลำบาก (เมื่อออกแรง)

- วิงเวียน มึนงง จะเป็นลม และ

- นอนไม่หลับ

 

AMS พบเกิดได้ประมาณ 10 - 60% ขึ้นกับระดับความสูง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ บทนำ มักเกิดภายใน 6 - 10 ชั่วโมงหลังขึ้นไปอยู่ในที่สูง และอาการจะดีขึ้นภายหลังการดูแลตนเองภายใน 1 - 2 วัน (อาการมากขึ้นในช่วงกลางคืน และเมื่อตื่นนอนเช้า เพราะเป็นช่วงความดันโลหิตต่ำกว่าช่วงเวลาอื่นๆ) ด้วยการพักผ่อน สูดดมออกซิเจน และลงมาอยู่ในพื้นที่มีความสูงปกติ

 

ข. HAPE (High altitude pulmonary edema) หรือ อาการจากภาวะปอดบวมน้ำ เป็นอาการที่รุนแรงกว่า AMS พบได้ประมาณ 0.1-4% โดยจะต้องมีอาการดังจะกล่าวต่อไปอย่างน้อย 2 อาการ คือ

 

- ขณะพัก ก็หายใจลำบาก

- ไอ (เสลดมักเป็นฟอง และอาจมีเลือดสดปน)

- อ่อนเพลียมากขึ้น

- ออกแรงไม่ไหว

- และ/หรือ แน่นหน้าอก

 

และถ้าตรวจดูจะพบอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อาการเช่นกัน คือ

 

- ใบหน้าและ/หรือลำตัวเขียวคล้ำ

- หัวใจเต้นเร็ว

- หายใจเร็ว

- และ/หรือ ถ้าฟังเสียงหายใจ (อาจด้วยหูฟัง) จะได้ยินเสียงผิดปกติ เช่น เสียงหวีด หรือ เสียงแซมหายใจ/เสียงหายใจผิดปกติที่เรียกว่า Rale

 

HAPE มักเกิดในช่วงกลางคืนเช่นกัน และมักเกิดประมาณวันที่ 1-3 หลังจากขึ้นที่สูง โดยพบว่าเมื่อขึ้นที่สูง 2,500 เมตรประมาณ 15-20 % จะเกิดภาวะนี้ได้ ถ้าไม่ได้รับการรัก ษาทันท่วงที โดยเฉพาะการต้องลงมาจากที่สูง มาอยู่ในพื้นที่ความสูงปกติ มีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 40% แต่ถ้าได้รับการรักษารวดเร็ว ผู้ป่วยจะกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

 

ค. HACE (High altitude cerebral edema) หรือ อาการจากสมองบวมน้ำ คือ ผู้ ป่วยจะมีอาการทางสมองร่วมด้วยกับอาการต่างๆทั้งในภาวะ AMS และในภาวะ HAPE เป็นอาการที่รุนแรงที่สุดในกลุ่มอาการที่เกิดจากโรคจากขึ้นที่สูง พบได้ประมาณ 0.1-4% เช่นกัน โดยมีอาการสำคัญ คือ

 

- เดินเซ/เดินได้ไม่ตรง ต่อจากนั้น คือ

- อาการสับสน

- ซึ่งถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการต้องลงมาอยู่ในพื้นที่ความสูงปกติ ผู้ป่วยจะโคม่าในระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมงหลังเกิดอาการทางสมอง

 

HACE มักเกิดต่อเนื่องมาจากการไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเมื่อเกิด AMS และ HAPE โดยอาการจะรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืนเช่นกัน เมื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจะฟื้นกลับเป็นปกติได้ในระยะเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งโอกาสเสียชีวิตจะประมาณ 15-20% และถ้าเกิดโคม่า โอกาสเสียชีวิตจะประมาณ 60%

 

โรคจากขึ้นที่สูง

 

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคจากขึ้นที่สูง ?

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคจากขึ้นที่สูง คือ

 

- การขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็ว เพราะร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน

- การออกแรงมากในที่สูง เช่น เดินเร็ว วิ่ง เพราะจะเพิ่มความต้องการการใช้ออกซิ เจนของร่างกาย

- ภาวะขาดน้ำ

- คนที่มีถิ่นพักอาศัยบนพื้นที่ใกล้ระดับน้ำทะเล เพราะร่างกายไม่เคยปรับตัว

- คนที่เคยมีอาการ AMS มาก่อน

- คนที่เพิ่งเคยอยู่ในที่สูง หรือท่องเทียวในที่สูง จะลดโอกาสเกิด AMS

- คนที่มีเม็ดเลือดแดงต่ำ (ภาวะซีด) เพราะจะขาดออกซิเจนได้ง่ายกว่า

- เป็นโรคหัวใจ หรือเป็นโรคปอด ซึ่งถือเป็นข้อห้ามในการขึ้น/ท่องเที่ยวในสถานที่สูง

- ความสูงของสถานที่ ยิ่งสถานที่สูง โอกาสเกิดอาการจะสูงขึ้น

- ตำแหน่งที่ตั้งหรือภูมิศาสตร์ของพื้นที่สูงแต่ละแห่ง เพราะมีความดันอากาศแตกต่างกัน จึงส่งผลต่อโอกาสเกิดภาวะขาดออกซิเจนแตกต่างกัน

- อาจเกี่ยวข้องกับ เชื้อชาติ และพันธุกรรม

 

 

แพทย์วินิจฉัย โรคจากขึ้นที่สูง ได้อย่างไร ?

 

แพทย์วินิจฉัยโรคจากขึ้นที่สูงได้จาก

 

- ประวัติการท่องเที่ยว การเดินทาง

- การตรวจร่างกาย

- การตรวจเลือดซีบีซีดูปริมาณเม็ดเลือดแดง

- และการตรวจสืบค้นอื่นๆ เพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วยและตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอภาพสมอง เป็นต้น

 

 

รักษา โรคจากขึ้นที่สูง ได้อย่างไร ?

แนวทางการรักษา โรคจากขึ้นที่สูง ที่ดีที่สุด คือ การกลับลงสู่พื้นที่ปกติ เพราะการพยายามให้การดูแลรักษาบนพื้นที่สูงมักอันตราย ยกเว้นมีโรงพยาบาล เครื่องมือทางการแพทย์ หรือทีมแพทย์/พยาบาลที่ชำนาญการเตรียมไว้พร้อมแล้ว

 

ก. การดูแลรักษา ภาวะ AMS คือ พัก หยุดการออกแรง ให้ออกซิเจน ดื่มน้ำให้เพียงพอ อาการมักจะดีขึ้นภายใน 12 - 36 ชั่วโมง

 

ถ้ามีอาการรุนแรง ควรพยายามลงมาที่ราบให้เร็วที่สุด อาจต้องใช้ถุงเพิ่มความดันออกซิเจนในการช่วยนำผู้ป่วยกลับลงมา บางครั้งแพทย์แนะนำให้ยาขับน้ำในสมอง และในปอด ชื่อ Acetazolamide แต่ก็ได้ผลเฉพาะในบางคน หรือบางครั้งอาจฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์(Steroid) เพื่อช่วยลดการบวม แต่ก็เช่นกัน ไม่สามารถพยากรณ์ผลได้

 

เมื่อลงมาถึงพื้นราบ การรักษาคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การรักษาภาวะขาดน้ำ การให้ออกซิเจน การใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้ยาปรับความดันโลหิต และการให้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ

 

ข. HAPE : การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับลงมายังพื้นราบและไปโรงพยาบาลทันที่เพราะผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากสถานที่มีเครื่องมือและยาต่างๆในการที่จะรักษาอาการปอดบวมน้ำ เช่น การให้ออกซิเจน การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้ยาช่วยบรรเทาอาการบวมน้ำของปอด/ปอดบวมน้ำ เช่น ยา Nifedipine

 

ค. HACE : การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับลงมายังพื้นราบและไปโรงพยาบาลทันที่เพราะผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากสถานที่มีเครื่องมือและยาต่างๆในการที่จะรักษาอาการสมองบวมได้ เช่น การให้ออกซิเจน การให้ยา Dexamethazone และการใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

 

โรคจากขึ้นที่สูง มีผลข้างเคียงไหม ?

 

โดยทั่วไป เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม รวดเร็ว ผู้ป่วยจะฟื้นกลับเป็นปกติ และไม่มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนใดๆ แต่ทั้งนี้ เมื่อกลับไปขึ้นที่สูงอีก โอกาสเกิดโรคจากขึ้นที่สูงก็จะสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดภาวะปอดบวมน้ำ/ HAPE และ/หรือภาวะสมองบวม/ HACE ก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ "อาการฯ"

 

โรคจากขึ้นที่สูง

 

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิด โรคจากขึ้นที่สูง ? ควรพบแพทย์เมื่อไร ?

 

การดูแลตนเอง ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนการขึ้นที่สูง และเมื่อขึ้นที่สูง ควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นเสมอ

 

- เมื่อเริ่มมีอาการ ที่สำคัญที่สุด คือ อาการปวดศีรษะ ต้องหยุดพักการออกแรงต่างๆ พักร่างกายให้เต็มที่เพื่อลดความต้องการออกซิเจนของร่างกาย สูดดมออกซิเจน และดื่มน้ำสะอาด ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ แล้วรีบกลับลงมายังพื้นราบ

- อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารอ่อน และเป็นอาหารที่ย่อยง่ายในกลุ่มอาหารคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) และ

- เมื่ออยู่บนพื้นราบแล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 วัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล แต่ถ้า*อาการเลวลง ควรไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที

- นอกจากนั้น ต้องรีบพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อ

  •    มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
  •    ไอ หรือไอเป็นเลือด
  •    หรือเริ่มมีปัญหาเดินเซ หรือสับสน

 

 

ป้องกัน โรคจากขึ้นที่สูง ได้อย่างไร ?

 

ปัจจุบันยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน โรคจากขึ้นที่สูง ดังนั้นวิธีป้องกันโรคจากขึ้นที่สูงที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ

 

- การปรับตัวให้ร่างกายรับได้กับภาวะมีออกซิเจนและมีความกดอากาศต่ำ ซึ่ง คือ การค่อยๆ ปรับระดับความสูง เดินขึ้นช้าๆ อย่าออกแรงมาก หยุดพักไปเรื่อยๆ และ อย่าให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ

 

นอกจากนั้นที่เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน คือ

 

- รู้จักสถานที่ที่จะไป รู้ว่ามีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เสมอ รู้จักอาการเริ่มต้นของภาวะนี้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ เพื่อการปรับตัว และการป้องกันไม่ให้เกิดอาการมาก ขึ้น

- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

- ไม่สูบบุหรี่

- อาหาร ผู้นำทางบางคนแนะนำให้กินอาหารคาร์โบไฮเดรต เพราะเชื่อว่าในการย่อย จะใช้ออกซิเจนต่ำกว่าอาหารให้พลังงานกลุ่มอื่น คือ โปรตีน และไขมัน แต่การศึกษาต่างๆยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดในเรื่องอาหาร รวมถึง วิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ ยาและสมุนไพรพื้นบ้าน ที่สามารถป้องกันโรคจากการขึ้นที่สูงได้ แต่โดยทั่วไปมักแนะนำให้กินอาหารมื้อละน้อยๆ แต่เพิ่มมื้ออาหารให้มากขึ้น ดังนั้นการทำตามคำแนะนำของผู้นำทางจะเป็นประโยชน์ที่สุด

- เตรียมออกซิเจนเสริมให้พอเพียง

- เมื่อรู้สึกเริ่มมีอาการผิดปกติ ต้องพัก หรือล้มเลิกการเดินทาง ควรรีบกลับลงสู่พื้นราบให้เร็วที่สุด

- ถ้าเป็นไปได้ ในการท่องเที่ยว ควรกลับลงมานอนในพื้นที่ราบเสมอ เพราะดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการว่า อาการต่างๆ มักรุนแรงในช่วงกลางคืน

- เมื่ออยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป หรือเมื่อสงสัยมีปัญหาสุขภาพ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก่อนเดินทาง ซึ่งอาจจำเป็นต้องกินยาบางชนิดล่วงหน้า เช่น ยาขับน้ำ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้เพราะยาที่ใช้เพื่อการป้องกันเหล่านี้มีผลข้างเคียงได้ แพทย์จึงต้องเป็นผู้ประเมินถึงความเหมาะสม

- ในการเดินทาง ควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้นำทางเสมอ และเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้ออาการ ต้องรีบแจ้งให้ผู้นำทางทราบทันที

- ไม่เดินทางขึ้นที่สูงเมื่อมีโรคหัวใจ และ/หรือโรคปอด

 

 

ข้อมูล : หาหมอ