ไลฟ์สไตล์

"ยามุ่งเป้า" ทางเลือก ทางรอดใหม่ ของการ รักษามะเร็ง

"ยามุ่งเป้า" ทางเลือก ทางรอดใหม่ ของการ รักษามะเร็ง

25 พ.ย. 2565

รู้จัก "ยามุ่งเป้า" ทางเลือกใหม่ของการ "รักษามะเร็ง" ยับยั้งกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์ เซลล์ มะเร็ง ถูกทำลาย

หากพูดถึงโรค ที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้ว หลายคนกลัว คงหนีไม่พ้น "มะเร็ง"  เพราะจากสถิติพบว่า มีผู้เสียชีวิต จากโรคมะเร็ง เพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ เมื่อเป็นแล้วรักษาไม่หาย แต่ปัจจุบัน วิวัฒนาการ การรักษามะเร็ง ก็มีมากขึ้น การศึกษาพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ทำให้ค้นพบว่า เซลล์มะเร็งมีคุณสมบัติเฉพาะตัว 

 

เช่น มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งส่งผลต่อการส่งสัญญาณการแบ่งตัวภายในเซลล์ (Signal transduction pathway) ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้เองอย่างไม่จำกัด มีความสามารถในการสร้างหลอดเลือดมาเลี้ยงตัวเอง สามารถหลบหลีกการถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสามารถมีความสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะต่าง ๆ ได้

 

 

นพ.วรเศรษฐ์ สายฝน คลินิกโรคมะเร็ง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ความสามารถพิเศษเหล่านี้ เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนบางชนิด ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของโปรตีนต่าง ๆ ที่ควบคุมการแบ่งตัวของมะเร็ง โดยมะเร็งแต่ละชนิดมีการกลายพันธุ์ของยีนต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน

 

เมื่อนักวิจัยสามารถศึกษาจนค้นพบว่า กลไกใดสำคัญต่อมะเร็งชนิดใด จึงสามารถพัฒนายามายับยั้งกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์นั้น ๆ ทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายลงได้ในที่สุด จึงเรียกยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงในกลไกการแบ่งตัวที่ถูกรบกวนเหล่านี้ว่า "ยามุ่งเป้า" (Targeted therapy)

 

ความแตกต่างระหว่างยามุ่งเป้าและยาเคมีบำบัด

 

  • ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็งเป้าหมายโดยตรง โดยอาจส่งผลต่อเซลล์ปกติเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ยาเคมีบำบัดทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็ว
  • ยามุ่งเป้ามักมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด
  • ยามุ่งเป้าใช้ได้เฉพาะในมะเร็งบางชนิดและต้องตรวจพบยีนกลายพันธุ์ที่เข้าได้กับยามุ่งเป้านั้น ในส่วนของยาเคมีบำบัดไม่ต้องตรวจการกลายพันธุ์ของมะเร็งก่อน

 

รูปแบบของยามุ่งเป้า

 

  • มีทั้งรูปแบบยากิน (Tyrosine kinase inhibitors) และยาฉีด (monoclonal antibody)
  • มีทั้งการใช้เป็นยาชนิดเดียวและการใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาเคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด
     

ประโยชน์ของยามุ่งเป้าในการรักษามะเร็ง

 

  • เพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดได้อย่างชัดเจน
  • ทำให้เซลล์มะเร็งเป้าหมายยุบลงได้
  • เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

 

รักษามะเร็ง

 

ผลข้างเคียงของยามุ่งเป้า

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่

 

  • อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลักษณะคล้ายสิว ผิวหนังแห้ง คัน
  • อาการทางเล็บ เช่น จมูกเล็บอักเสบ
  • อ่อนเพลีย
  • ปาก/คออักเสบ
  • ความดันโลหิตสูง
  • โดยผลข้างเคียงจากยาจะแตกต่างกันไปตามชนิดของยาที่ใช้ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอ

 

ขั้นตอนการใช้ยามุ่งเป้ารักษามะเร็ง

 

  • แพทย์จำเป็นต้องนำชิ้นเนื้อมะเร็งส่งตรวจพันธุกรรม
  • หากตรวจพบการยีนพันธุ์ที่เข้าได้จึงมีโอกาสใช้ยามุ่งเป้าได้
     

ข้อจำกัดการใช้ยามุ่งเป้า

มีการใช้เฉพาะในมะเร็งบางชนิดเท่านั้น เช่น

 

  • มะเร็งปอดชนิดยีนกลายพันธุ์ EGFR หรือชนิด ALK
  • มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดยีน HER2 amplification
  • มะเร็งลำไส้
  • มะเร็งจิสต์ (GIST)
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
  • ใช้ได้ผลเมื่อตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนเป้าหมายที่จำเพาะเท่านั้น
  • ข้อมูลส่วนใหญ่ใช้ในการรักษามะเร็งในระยะแพร่กระจาย
  • ยามีราคาสูง มีข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายได้เฉพาะในบางสิทธิ์การรักษา
  • หลังจากใช้ยาไประยะหนึ่ง มะเร็งมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์รูปแบบใหม่หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้ดื้อต่อยามุ่งเป้าชนิดเดิมได้

 

โดยยามุ่งเป้าในปัจจุบัน จะมีชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งเซลล์ และชนิดที่ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดเป็นหลัก

 

ยามุ่งเป้า