เช็คอาการชัดๆ "ปอดติดเชื้อ" ภาวะติดเชื้อที่เนื้อปอด ที่อันตรายถึงชีวิตได้
รู้จัก "ปอดติดเชื้อ" ภาวะติดเชื้อที่เนื้อปอดและถุงปอด ที่อันตรายถึงชีวิตได้ เช็คอาการชัดๆ การรักษา รวมถึงการป้องกัน
จากเหตุการณ์ที่สร้างความโศกเศร้าในวงการบันเทิง หลังที่มีข่าวการจากไปของ นักแสดงหญิงที่มากความสามารถ "ลินดา ค้าธัญเจริญ" อดีตนักแสดงชื่อดังในยุค 80 ซึ่งก่อนหน้านี้ เธอได้เกิดอุบัติเหตุหกล้มในห้องน้ำ เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก ส่งผลให้ร่างกายเป็นอัมพฤกษ์ นอนติดเตียง
ซ้ำร้าย เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นได้ตรวจพบ โรคมะเร็งที่ใต้โคนลิ้น ทำให้ต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้านยาวนานหลาย 10 ปี จนเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เธอได้เสียชีวิตลง ในวัย 66 ปี ด้วยสาเหตุจาก "ปอดติดเชื้อ"
"ปอดติดเชื้อ" (Pneumonia) เป็นภาวะติดเชื้อที่เนื้อปอดและถุงลมปอด ทำให้เกิดอาการ ปอดบวม ผู้ป่วยมักมีอาการไอมีเสมหะ หายใจมีเสียง หายใจหอบเหนื่อย และเจ็บหน้าอก โดยอาการปอดติดเชื้อจะส่งผลให้เกิดสองโรคที่พบได้บ่อย คือ โรคปอดบวม ที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและโรคปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
อาการปอดติดเชื้อ มักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะ อาการปอดติดเชื้อ ที่ทำให้เกิด โรคปอดบวม เพราะส่วนมากจะมีอาการร้ายแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
อาการปอดติดเชื้อ
ผู้ป่วยที่มีอาการปอดติดเชื้อมักพบอาการดังนี้
- ไอมีเสมหะ โดยเสมหะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
- หายใจมีเสียง (Wheezing) และหายใจได้สั้นลง
- แน่นหน้าอก
- ปวดศีรษะ
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ปวดกล้ามเนื้อ
- รู้สึกล้าหรืออ่อนแรง
อาการปอดติดเชื้อ มักเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากอาการจะขึ้นได้เองภายใน 7-10 วันโดยไม่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่อาจมีอาการไอมีเสมหะอยู่ในช่วง 3 สัปดาห์ ในบางกรณีอาการปอดติดเชื้ออาจไม่หายได้เอง ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด ปวดศีรษะหรือมีไข้และอาการแย่ลง มีอาการไอต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ เจ็บหน้าอก หายใจหอบถี่หรือหายใจลำบาก เวียนศีรษะหรือมีอาการสับสน เป็นต้น
สาเหตุของ "ปอดติดเชื้อ"
"ปอดติดเชื้อ" ส่วนใหญ่เกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส บางรายอาจเกิดจากเชื้ออื่นๆ อย่างเชื้อราหรือเชื้อปรสิต โดยสาเหตุของการติดเชื้อจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อ
ผู้ป่วยสามารถได้รับเชื้อผ่านการสูดเอาละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจจนปอดติดเชื้อ โดยอาจได้รับจากคนรอบข้างที่มีเชื้อได้ไอหรือจามออกมา รวมถึงการสัมผัสสิ่งของหรือพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียปนเปื้อนแล้วมาสัมผัสบริเวณใบหน้าหรือปากของตนเอง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน
นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มหรือมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่ปอดได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น
- อายุมากกว่า 65 ปี
- กำลังตั้งครรภ์
- เป็นทารกหรือเด็กเล็ก
- สูบบุหรี่
- มีภาวะผิดปกติหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะผิดปกติของหัวใจ ไต หรือภาวะผิดปกติของปอดอย่างโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคหืด
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อ HIV ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น
การวินิจฉัย "ปอดติดเชื้อ"
แพทย์จะวินิจฉัยอาการปอดติดเชื้อจากการสอบถามอาการ ซักประวัติของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว อย่างประวัติสุขภาพหรือพฤติกรรมการสูบบุหรี่ จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยการวัดอุณหภูมิร่างกาย นับอัตราการหายใจ ตรวจดูการอิ่มตัวของออกซิเจนในร่างกายด้วยเครื่องวัดบริเวณปลายนิ้ว รวมถึงฟังเสียงการทำงานของปอดและหัวใจ หากผู้ป่วยมีอาการหอบหืด แพทย์อาจใช้วิธีตรวจวัดสมรรถภาพปอด (Peak Flow Measurement) ร่วมด้วย
หากตรวจพบอาการติดเชื้อที่บริเวณหลอดลมปอดและมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องทดสอบเพื่อวินิจฉัยเป็นพิเศษ แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์อาจเอกซเรย์ปอดเพื่อวินิจฉัยอาการและความรุนแรงของการติดเชื้อ รวมทั้งจะตรวจเลือดและเสมหะเพื่อตรวจหาเชื้อต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจในการจ่ายยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยได้เหมาะสม เนื่องจากยาบางชนิดอาจใช้รักษาอาการติดเชื้อไม่ได้ผล
การรักษา "ปอดติดเชื้อ"
แพทย์จะรักษา "ปอดติดเชื้อ" ตามสาเหตุและความรุนแรงของโรค ดังนี้
- ปอดติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียอย่างโรคปอดบวม แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วย ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ที่บ้าน
- ปอดติดเชื้อที่เกิดจากไวรัส อาการมักดีขึ้นได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แพทย์จะเน้นที่การรักษาเพื่อบรรเทาอาการจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น เนื่องจากยาปฏิชีวนะจะไม่ใช้ในการรักษาอาการปอดติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม หากเป็นปอดอักเสบจากไวรัสบางชนิดแพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย
- ปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้ออื่นๆ อย่างเชื้อราหรือเชื้อปรสิต มักจำเป็นต้องได้รับยาเฉพาะสำหรับเชื้อที่ตรวจพบ และอาจรักษาเพิ่มเติมตามความจำเป็นหรือความรุนแรงของผู้ป่วย เช่น การให้ยาละลายเสมหะ การกำจัดเสมหะ การให้สารน้ำให้เพียงพอ การใช้ยาขยายหลอดลม การบำบัดด้วยออกซิเจน การใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจในกรณีที่มีอาการรุนแรง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองที่บ้านตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดศีรษะ และลดไข้ ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน หรือยาแอสไพริน แต่ยาแอสไพรินยาไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี รวมถึงอาจใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูกและยาขับเสมหะ
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ช่วยให้เสมหะในปอดบางลงและถูกขับออกมาง่ายขึ้น
- ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งอุ่นๆ หากมีอาการเจ็บคอจากการไอบ่อย
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยหลีกเลี่ยงการนอนราบเพราะอาจทำให้เสมหะค้างอยู่ที่บริเวณหน้าอกจนหายใจได้ลำบาก แต่ควรใช้หมอนหนุนเสริมบริเวณศีรษะและหน้าอกขณะหลับ
- ใช้เครื่องทำความความชื้นหรือเครื่องพ่นไอน้ำเพื่อช่วยลดอาการไอ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่จากบุคคลอื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับอาการไอ เนื่องจากการไออย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยขับเสมหะที่สะสมในปอด ทำให้การติดเชื้อหายเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ควรระมัดระวังในการแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นหากมี อาการปอดติดเชื้อ โดยผู้ป่วยควรล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการไอหรือจามควรปิดปากและทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมทันที เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
ภาวะแทรกซ้อนของ "ปอดติดเชื้อ"
หากมีอาการหลอดลมอักเสบแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาอย่างไม่ถูกต้อง การติดเชื้อจากบริเวณหลอดลมอาจแพร่ไปสู่ปอดได้ ทำให้เกิดภาวะ ปอดบวม บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด การสะสมของของเหลวในปอด การเกิดฝีในปอด ภาวะพร่องออกซิเจน และภาวะระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น
การป้องกัน "ปอดติดเชื้อ"
วิธีลดความเสี่ยงในการเกิด อาการปอดติดเชื้อ สามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนการรับประทานอาหาร หรือ ก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้าและปาก เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้
- ปอดติดเชื้ออาจเกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง และควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวม (Pneumococcal Vaccine) เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงจากอาการปอดติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น
- จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ที่มา : Pobpad