ไลฟ์สไตล์

"ภาวะเลือดออกในสมอง" ในเด็กภาวะอันตรายถึงชีวิต เช็คอาการเบื้องต้น

"ภาวะเลือดออกในสมอง" ในเด็กภาวะอันตรายถึงชีวิต เช็คอาการเบื้องต้น

01 ธ.ค. 2565

"ภาวะเลือดออกในสมอง" ในเด็กอันตรายถึงชีวิตหากรู้ถึงความผิดปกติล่าช้า เตือนผู้ปกครองอย่าละเลยหากลูกหัวกระแทก เช็คอาการเบื้องต้นก่อนสาย

ปัจจุบันการดูแลเด็กเล็กถือ่าเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่กำลังเดินได้ เด็กอนุบาล เพราะเด็กในวัยนี้มักจะเล่นซน จนบางครั้งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยไม่ตั้งใจ ส่งผลให้เกิด "ภาวะเลือดออกในสมอง" จนทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากภาวะดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่สามารถสังเกตได้ทันทีด้วยตาเปล่า เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับเด็ก ๆ วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ สรุป "ภาวะเลือดออกในสมอง" การสังเกตอาการเบื้องต้นมาให้ ดังนี้  

"ภาวะเลือดออกในสมอง"  เป็นอาการที่มีเลือดออกในสมอง จนส่งผลให้สมองบวม และมีความดันในกะโหลก ศีรษะสูงขึ้น ภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ "ภาวะเลือดออกในสมอง" ในเด็ก ผู้ปกครองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าสังเกตอาการ เพราะในเด็กเล็กไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดภาวะผิดปกติอย่างไรในร่างกาย หากพบว่ามีความผิดปกติก็ควรพาพบแพทย์ทันที 

 

ความผิดปกติของเด็กที่มี "ภาวะเลือดออกในสมอง" สามารถสังเกตุ ได้คือ มีอาการซึมลง ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้  ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตา ตามัว เดินเซ อ่อนแรง ชัก หมดสติ ต้องรีบพาส่ง โรงพยาบาล โดยทันที 
บางราย เลือดออกตอนแรกออกเล็กน้อย อาจจะยังไม่มีอาการแบบที่ว่ามาชัดเจน แต่จะค่อยๆแสดงอาการหลังจากนั้น ดังนั้นถ้ามีความเสี่ยง ควรจะพาเด็กไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คทันที 

 

ด้านเพจ หมอหมู วีระศักดิ์ หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยาศาสตร์  มศว โพสต์ข้อมูล "ภาวะเลือดออกในมอง" ว่า  ในประเทศไทย มีรายงานวิจัยพบภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้ประมาณร้อยละ 2-3 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ ภาวะนี้พบได้ในทุกอายุ โดยพบว่าในเด็ก (อายุมากกว่า 2 ปี) มีโอกาสเกิดได้มากกว่าในผู้ใหญ่ เนื่องจากเยื่อดูราแยกออกจากผิวด้านในของกะโหลกได้ง่ายกว่า 


การเกิดหลอดเลือดฉีกขาดจนทำให้เกิดก้อนเลือดมีสาเหตุจากการผิดรูปของกะโหลกศีรษะในขณะที่มีแรงมากระทบ (สาเหตุหลักจากการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ ทั้งอุบัติเหตุจราจร ตกจากที่สูง เด็กหกล้ม จากการเล่นกีฬา หรือถูกทำร้ายร่างกายที่บริเวณศีรษะ) ทำให้หลอดเลือดที่แตกแขนงไปเลี้ยงกะโหลกศีรษะถูกดึงรั้งจนฉีกขาด 


การที่เลือดออกจากหลอดเลือดจะทำให้มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยแรงดันในหลอดเลือดแดงและก้อนเลือดจะเซาะหลอดเลือดออกจากกะโหลกศีรษะ จึงทำให้มีการฉีกขาดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกะโหลกศีรษะเพิ่มเกิดจุดเลือดออกมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาต่อมา 


ตำแหน่งที่เกิดบ่อยคือ Temporal bone (ขมับ) ซึ่งมีความบอบบางเป็นเหตุให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดด อัตราการตายของผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก พบประมาณร้อยละ 8