"ภาวะตัวเย็นเกิน" ภัย สุขภาพ ร้าย ที่อันตรายถึงชีวิต เช็คอาการไหนเสี่ยง
รู้จัก "ภาวะตัวเย็นเกิน" Hypothermia ภัยสุขภาพร้าย ที่อันตรายถึงชีวิต เจอ หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เช็คอาการแบบไหน เสี่ยง
ช่วงฤดูหนาว กับอุณหภูมิที่เริ่มลดลง ส่งผลให้มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ บนยอดดอย ทำให้อาจมีอาการ "ภาวะตัวเย็นเกิน" หลายคนคงสงสัย ภาวะตัวเย็นเกิน คืออะไร แล้วอากาศในประเทศไทย จะเย็นถึงขนาดต้องทำให้เกิดภาวะนี้เลยหรือ ถึงแม้จะฟังดูห่างไกล แต่ก็ควรทำความรู้จักไว้ เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว อาจทำให้เสียชีวิตได้
"ภาวะตัวเย็นเกิน" หรือ Hypothermia เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน เป็นผลมาจากการสัมผัสถูกความหนาวเย็นระยะเวลานาน เช่น อยู่ในอากาศหนาว หรือแช่ในน้ำที่เย็นจัด ทำให้ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับอุณหภูมิ ไม่สามารถสร้าง และเก็บความร้อนในร่างกายได้ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส เป็นเหตุให้อวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมองทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้
อาการภาวะตัวเย็นเกิน
ความรุนแรงแบ่งเป็น 3 ระดับ
- อาการไม่รุนแรง หากมีอุณหภูมิร่างกายลดลงถึงระดับประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- หนาวสั่น
- อ่อนเพลีย
- หายใจถี่
- คลื่นไส้
- มีอาการมึนงง พูดไม่ชัด
- มีปัญหาในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
- อาการรุนแรงปานกลาง ผู้ป่วยที่มีอุณภูมิร่างกายอยู่ที่ประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส มักมีอาการคล้ายกับอาการในขั้นไม่รุนแรง แต่จะมีความรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้ทำกิจวัตรง่าย ๆ ไม่ได้ และอาจพูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่อง
- อาการรุนแรงมาก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส จะพบอาการดังต่อไปนี้
- อาการสั่นอาจหายไป
- เกิดอาการมึนงงอย่างรุนแรง สติสัมปชัญญะลดลง
- ชีพจรเต้นอ่อนหรือเต้นผิดปกติ
- หายใจตื้นและหายใจช้าลง
- มีภาวะโคม่าและอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุของภาวะตัวเย็น
- การสวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องป้องกันความหนาวเย็นอื่น ๆ ที่ไม่หนาพอ
- การสัมผัสกับความเย็นโดยตรง เช่น การตกลงไปในน้ำที่เย็นจัด เป็นต้น
- การสัมผัสกับลมที่มีอุณหภูมิต่ำมาก ๆ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน เพราะลมจะพัดเอาอากาศอุ่น ๆ ที่ปกคลุมบนผิวหนังออกไป
นอกจากนี้ ยังเกิดจากอาหารการกินและพฤติกรรมการกินเป็นสาเหตุหลัก โดยเฉพาะคนสมัยนี้ที่กินมากเกินความจำเป็น ร่างกายจึงต้องส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงที่กระเพาะอาหารและลำไส้มากขึ้น เพื่อช่วยในกระบวนการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ปริมาณเลือดที่เหลือไปหล่อเลี้ยงสมองและกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ จึงลดน้อยลง อวัยวะที่ทำหน้าที่ส่วนใหญ่ในการผลิตความร้อนและรักษาอุณหภูมิ ในร่างกาย ได้แก่ กล้ามเนื้อ ตับ สมอง หัวใจ ก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ร่างกายจึงมีอุณหภูมิต่ำลง
อีกทั้ง อาหารที่กินย่อยไม่หมด ทั้งสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และน้ำตาลที่เหลือจากการเผาผลาญก็จะกลายเป็นของเสียที่ทำให้เลือดสกปรก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมากมาย ดังนั้น ทางการแพทย์จึงแนะนำว่าอย่ากิน "อาหารฤทธิ์เย็น" มากจนเกินไป
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยภาวะตัวเย็นเกิน
- ให้พาผู้ป่วยหลบอากาศและลมที่หนาวเย็น หรือขึ้นจากน้ำเย็น เข้าไปในห้องที่อบอุ่นและไม่มีลมเข้า
- ถ้าเสื้อผ้าเปียกน้ำ ควรปลดเสื้อผ้าออกและเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้งแทน
- ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ด้วยการห่อหุ้มร่างกายผู้ป่วยด้วยผ้านวม ผ้าห่มหนา ๆ หรือเสื้อผ้าหนา ๆ ในกรณีที่ยังอยู่ในกลางแจ้ง ควรคลุมถึงหน้าและศีรษะ (เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนจากบริเวณนี้) นอกจากนี้ อาจนอนกอดหรือแนบชิดร่างกายผู้ป่วย เพื่อถ่ายเทความร้อนให้ผู้ป่วย
- จับให้ผู้ป่วยนอนนิ่ง ๆ ให้อยู่ในท่านอนหงายบนพื้นที่อบอุ่นหรือมีผ้าหนา ๆ ปูรอง หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็น ห้ามนวด หรือแตะต้องตัวผู้ป่วยแรง ๆ อาจกระเทือนให้หัวใจหยุดเต้นได้
- ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่น ๆ ห้ามมีแอลกอฮอล์ผสม เพราะยิ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน
- ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจไป ให้ทำการเป่าปาก ถ้ายังหายใจได้แม้จะแผ่ว ๆ ก็ยังไม่ต้องทำการกู้ชีพ อาจกระเทือนให้หัวใจหยุดเต้นได้
ภาวะตัวเย็นเกินอันตรายถึงชีวิต
ถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก็มักจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษาจากแพทย์ ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรง และระยะเวลาที่เป็นก่อนมาถึงโรงพยาบาล ถ้าได้รับการรักษาได้เร็ว ก็มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าร้อยละ 75 แต่ถ้าได้รับการรักษาช้าเกินไป หรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเรื้อรัง อยู่ก่อนแล้ว ผลการรักษาก็มักจะไม่ได้ผล
ประเทศไทยก็เจอแล้ว
นายแพทย์ ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิต ที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564-1 มีนาคม 2565 พบว่า มีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวังภาวะตัวเย็นเกินทั้งสิ้น 10 ราย มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในช่วงเดือนธันวาคม 5 ราย (ร้อยละ 50) ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน