ไลฟ์สไตล์

แอปฯ แรกในไทย "EarTest by Eartone" ตรวจการได้ยิน บ่งชี้ "โรคสมองเสื่อม"

แอปฯ แรกในไทย "EarTest by Eartone" ตรวจการได้ยิน บ่งชี้ "โรคสมองเสื่อม"

31 ม.ค. 2566

สำเร็จแล้ว! คนไทยมีเฮ หมอจุฬาฯ เปิดตัว แอปพลิเคชันแรกในไทย "EarTest by Eartone" ตรวจการได้ยิน บ่งชี้ "โรคสมองเสื่อม" รองรับสังคมสูงวัย

องค์การอนามัยโลกทำการศึกษาความเสี่ยงการเกิด "โรคสมองเสื่อม" มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่าโดยมากผู้ที่มีปัญหาการได้ยินจะมีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าและพบว่าความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนี้จะหายไป ถ้าได้รับการดูแลและรักษาปัญหาด้านการได้ยินจนหายเป็นปกติ จึงนับได้ว่าภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากปัญหาการได้ยินเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตามการตรวจการได้ยินนั้นจำเป็นต้องใช้ห้องตรวจราคาแพง และมีจำกัดเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น ทำให้การตรวจเพื่อป้องกันนี้ทำได้โดยจำกัด

 

กว่าจะมาเป็นแอปพลิเคชัน EarTest by Eartone

 

แอปพลิเคชัน "EarTest by Eartone" (ฉบับภาษาไทย) ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ ผศ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้คิดค้น วิจัยและพัฒนา โดยเปิดให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงจากปัญหาการได้ยิน สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเองที่บ้าน ฟรี ผ่านเสียงพูดในอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับหูฟัง เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดปัญหาสมองเสื่อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

 

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร

 

อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร กล่าวว่า แอปพลิเคชัน "EarTest by Eartone" เกิดจากโครงการวิจัย Thai Speech Acoustic Virtual Reality Test for the Detection of Early Dementia ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยต่อยอดแอปพลิเคชัน EarTest by Eartone นี้ จากเทคโนโลยีเดิม ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ซึ่งการที่เราจะพัฒนาการตรวจลักษณะนี้ได้ ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะต้องมีความร่วมมือกับทางต่างประเทศด้วย ซึ่งทางทีมโชคดีมากที่ได้ร่วมมือกับทาง University College London โดยร่วมมือกับ Professor Stuart Rosen ผู้ที่พัฒนาการตรวจการได้ยินในภาษาต่างๆ เกือบทั่วโลก โดยเริ่มจากการเก็บรวบรวม ความคิดเห็นและความต้องการของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นผู้ใช้จริงมากกว่า 100 คน จากนั้นจึงนำมาออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด

 

ผศ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล

 

ด้าน ผศ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราใช้เทคนิคแบบ Virtual Reality ซึ่งเป็นการจำลองห้องไร้เสียง สะท้อนสภาพเหมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ ในห้องปฏิบัติการขั้นสูง เพื่อนำมาใช้ในการแปลผลของสมองด้านภาษา เพื่อวิจัยต่อไปว่าผู้รับการประเมินจะบ่งชี้เริ่มมีภาวะ "โรคสมองเสื่อม" หรือ dementia ในอนาคตหรือไม่

 

แอปฯ แรกในไทย \"EarTest by Eartone\" ตรวจการได้ยิน บ่งชี้ \"โรคสมองเสื่อม\"

 

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งในระบบ ios และ android โดยเสริชคำว่า Eartest by Eartone