เตือนภัย โรค 'คาโรชิ ซินโดรม' หรือ 'ทำงานหนักจนตาย' ก่อนสายเกินแก้
เมื่อไม่กี่วันก่อนในบ้านเรามีเคสพนักงานเสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน ทำให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายโรค 'คาโรชิ ซินโดรม' หรือ 'ทำงานหนักจนตาย' หรือไม่
“คาโรชิ ซินโดรม” (Karoshi Syndrome) หรือ “ทำงานหนักจนตาย” โรคที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยหรืออาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านี้มีหลายเคสเกิดขึ้นในประเทศที่ผู้คนเคร่งเครียดกับการทำงานอย่างที่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แต่ล่าสุดในบ้านเรามีเคสพนักงานเสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน ทำให้เกิดกระแสวิพากวิจารณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายโรค “คาโรชิ ซินโดรม” หรือไม่ วันนี้ คมชัดลึก ออนไลน์ จึงขออาสาพาไปทำความรู้จักกับโรคดังกล่าว ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร อาการเป็นแบบไหน และควรป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวคุณเองและคนรอบข้าง
โรค “คาโรชิ ซินโดรม” คือ อาการเหนื่อย หรือ อ่อนเพลียจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย เครียดสะสม จนทำให้เสียสุขภาพ และอาจเกิดอาการร้ายแรงที่นำไปสู่ชีวิต เช่น หัวใจวาย เป็นต้น
คำว่า “คาโรชิ” มีจุดเริ่มต้นจากภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากในสังคมการทำงานของญี่ปุ่นจะต้องทุ่มเทให้กับการทำงานมาก จนบางครั้งการทุ่มเทที่มากเกินพอดี อาจส่งผลเสียต่อคนทำงาน จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากวัฒนธรรมในการทำงานของบริษัทในญี่ปุ่น ที่มีความจริงจัง จนก่อให้เกิดความเครียดจากการทำงาน รวมไปถึงชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปจนร่างกายไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ การเร่งทำยอด การตั้ง KPI ที่สูงเกินกว่าจะสามารถเอื้อมถึง การกดดันจากผู้มีอำนาจในที่ทำงาน จนเกิดความเครียดและอาการเหนื่อยล้าสะสม เป็นต้น
เช็คลิสต์ อาการโรค “คาโรชิ ซินโดรม” (Karoshi Syndrome)
- หมกมุ่นเรื่องงานแทบจะตลอดเวลา
- ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน
- เริ่มงานเร็ว และเลิกงานช้า ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ไม่ค่อยได้ลางาน ไม่ว่าจะลาป่วย ลาพักผ่อน ลากิจ
- เคร่งเครียดจากการทำงาน ทำงานภายใต้ภาวะกดดัน
- นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย ฝันถึงเรื่องงานบ่อยๆ
อาการเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายเรื้อรังอื่นๆ WHO ระบุว่า ช่วงอายุ 45-74 ปี ที่ทำงานหนักจนเกินไป หรือมีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด คือ โรคหัวใจ 42% และเส้นเลือดในสมอง 19%
การป้องกัน โรค “คาโรชิ ซินโดรม” (Karoshi Syndrome)
- ทำงานล่วงหน้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้ 7-9 ชม. ต่อวัน หากมีปัญหานอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์
- หาเวลาผ่อนคลายสมอง ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร ท่องเที่ยว
- พบปะเพื่อนฝูง ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวเป็นระยะ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- รู้จักการปล่อยวางความคิด
- ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน หรือคิดเรื่องงานที่บ้านมากจนเกินไป
อ้างอิงจาก : msn, jobsdb