ไลฟ์สไตล์

'คุณแม่ตั้งครรภ์' ออกกำลังกาย ช่วยลด ‘ภาวะซึมเศร้า’ หลังคลอด

'คุณแม่ตั้งครรภ์' ออกกำลังกาย ช่วยลด ‘ภาวะซึมเศร้า’ หลังคลอด

16 ก.พ. 2566

กรมอนามัย แนะนำ ‘คุณแม่ตั้งครรภ์’ ออกกำลังกาย อย่างเหมาะสม ช่วยแม่คลอดง่าย ลด ‘ภาวะซึมเศร้า’ ในสัปดาห์แรกหลังคลอด ทำให้คุณแม่รู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ลดครรภ์เป็นพิษ ไม่คลอดก่อนกำหนด ส่วนลูกแข็งแรง

คนไทยยังมีความเชื่อผิดๆ ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ห้ามออกกำลังกาย ทำให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่หลายคนมีความวิตกกังวลใจ จะออกกำลังกายเหมือนคนปกติได้ไหม ต้องออกกำลังกายแบบไหน ระยะเวลานานแค่ไหน ถึงจะเกิดผลดีต่อคุณแม่และลูก

 

นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เผยว่า คุณแม่ตั้งครรภ์จะพบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะมีได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรง และแตกต่างกันไป

ในแต่ละบุคคล ซึ่งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในระยะตั้งครรภ์ จะช่วยส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์มีสุขภาพดี ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยที่ยืนยันได้ว่า การออกกำลังกายช่วยลดภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมหรือภาวะอื่นๆ จากการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวานจากการตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด 

 

โดยการออกกำลังกายเป็นการ ช่วยเตรียมความพร้อมของร่างกายเพื่อเข้าสู่การคลอด ทำให้คลอดง่ายขึ้น ส่งผลให้ความเจ็บปวดระหว่างคลอดลดลง การฟื้นตัวหลังคลอดดีกว่า ปวดแผลน้อยกว่า ปวดเข่าและปวดขาน้อยกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ออกกำลังกาย

 

อีกทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จะช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็ว สำหรับด้านจิตใจ พบว่า การออกกำลังกายช่วยลดภาวะซึมเศร้าในสัปดาห์แรกหลังคลอด ทำให้คุณแม่รู้สึกมีคุณค่าในตนเอง

 

และมีความพึงพอใจในภาพลักษณ์ของตนเองสูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อลูกน้อย โดยพบว่าความยาวของลำตัว และน้ำหนักทารกแรกเกิดจะมากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ออกกำลังกายอีกด้วย

 

ปัจจุบันไม่มีข้อห้ามการออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์ โดยสามารถออกกำลังกายได้ตลอดการตั้งครรภ์ ผู้ที่เริ่มต้นหรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ควรเริ่มที่ระดับเบา ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและสุขภาพร่างกายเป็นหลัก 

 

โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ การเดิน การออกกำลังกายในน้ำ (Hydrotherapy) โยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแรง

 

และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เช่น ยกเวท หรือ ดัมเบลเบาๆ อีกทั้งควรออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของอุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการปัสสาวะเล็ด ก่อนเริ่มออกกำลังกายควรได้รับคำแนะนำ หรือ ปรึกษาจากแพทย์และผู้ดูแลก่อน