ไลฟ์สไตล์

รู้จัก 'โนโรไวรัส' ไวรัสที่ระบาดใน นักเรียน อันตรายหรือไม่ ป้องกันอย่างไร

รู้จัก 'โนโรไวรัส' ไวรัสที่ระบาดใน นักเรียน อันตรายหรือไม่ ป้องกันอย่างไร

23 ก.พ. 2566

รู้จัก 'โนโรไวรัส' Norovirus ไวรัสตัวร้ายที่กำลังระบาดในกลุ่ม นักเรียน จ.ชัยภูมิ อันตรายหรือไม่ มีวิธีป้องกันอย่างไร

'โนโรไวรัส' ไวรัสตัวร้ายที่ตอนนี้กลับมาระบาดอีกครั้ง ในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งล่าสุดได้ระบาดในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ โดยพบว่ามีนักเรียน 315 คน จาก 4 โรงเรียนใน จ.ชัยภูมิ เกิดอาการติดเชื้อมีอาการ ปวดท้องบิด อาเจียน ซึ่งคาดว่าเชื้อไว้รัสมาจากแหล่งน้ำเดียวกัน

 

 

โดยทาง กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง โดย คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปรู้จัก 'โนโรไวรัส' ทั้งอาการ การป้องกัน การรักษา เมื่อติดเชื้อควรทำอย่างไร

 

'โนโรไวรัส' (Norovirus) เป็นโรคติดเชื้อจากโนโรไวรัสที่มักเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม และภาชนะใส่อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ส่งผลให้มี อาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ มีไข้ต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อยๆ มีอาการดีขึ้นและหายได้เอง อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นหรือถ่ายเหลวติดต่อกันเกิน 2-3 วันควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำได้

 

 

อาการของโรคติดเชื้อ 'โนโรไวรัส'

 

ผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อภายใน 12-48 ชั่วโมง หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้เองใน 1-3 วัน อาการโดยทั่วไปของการติดเชื้อโนโรไวรัส ได้แก่

 

  • ท้องเสีย ปวดท้อง
  • อาเจียนหรือคลื่นไส้
  • มีไข้ต่ำ รู้สึกหนาว
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศรีษะ

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีโรคประจำตัวต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

  • อุจจาระมีเลือดปน
  • ทารกหรือเด็กที่ถ่ายเหลวมากกว่า 5 ครั้ง หรืออาเจียนมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาโหล อ่อนเพลีย เวียนศรีษะ รู้สึกมึนงง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม ทารกที่มีภาวะขาดน้ำอาจไม่ปัสสาวะเลยใน 6-8 ชั่วโมง ส่วนเด็กอาจไม่ปัสสาวะเลยใน 12 ชั่วโมง ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา รวมทั้งอาจแสดงอารมณ์หงุดหงิดหรือไม่พอใจ
  • ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวชนิดรุนแรง เช่น โรคไต ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่วมกับมีอาการท้องเสียและอาเจียน
  • อาการป่วยไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน

 

โนโรไวรัส

 

สาเหตุการติดเชื้อ 'โนโรไวรัส'

 

เชื้อโนโรไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากการได้รับเชื้อแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยอาจก่อให้เกิดอาการป่วยได้ อีกทั้งไวรัสชนิดนี้มีระยะฟักตัวสั้นและทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายได้นาน นอกจากนี้ เชื้อจะยังคงอาศัยอยู่ในร่างกายต่อไปได้อย่างน้อย 2 อาทิตย์หลังจากที่อาการหายดีแล้ว ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโนโรไวรัส มีดังนี้

 

  • การรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือใช้ภาชนะใส่อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ไม่สะอาดหรือปรุงไม่สุก
  • การนำนิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก
  • การสัมผัสใกล้ชิดหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส

 

 

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อโนโรไวรัส

 

การวินิจฉัยการติดเชื้อโนโรไวรัสนั้นขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีอาการใกล้เคียงและเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบรุนแรงจากการติดเชื้อชนิดนี้ เช่น มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีโรคประจำตัว แพทย์อาจเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น Real-Time PCR หรือการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

 

 

การรักษาโรคติดเชื้อโนโรไวรัส

 

ปัจจุบันโรคติดเชื้อ โนโรไวรัส ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อยๆ มีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้เอง ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลงตามคำแนะนำต่อไปนี้

 

  • ดื่มน้ำหรือผงเกลือแร่โออาร์เอสเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายหรืออาเจียน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อาจดื่มน้ำด้วยตนเอง แพทย์จะให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือด
  • รับประทานอาหารรสอ่อน เช่น ข้าวต้ม แกงจืด เป็นต้น และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
  • รับประทานยาพาราเซตามอลเมื่อมีไข้หรือรู้สึกปวด และพักผ่อนให้มากๆ
  • ผู้ใหญ่อาจรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

 

 

โนโรไวรัส

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อโนโรไวรัส

 

โดยปกติ ผู้ติดเชื้อโนโรไวรัสมักมีอาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำหรือภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้มีปัญหาสุขภาพ และผู้ที่เคยปลูกถ่ายสเตมเซลล์หรือเคยปลูกถ่ายอวัยวะ หากเป็นโรคนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 

การป้องกันโรคติดเชื้อโรโนไวรัส

 

การติดเชื้อ โนโรไวรัส ไม่อาจป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ทำได้คือการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ ดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรืออาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน เป็นต้น
  • กดชักโครกและชำระล้างร่างกายให้สะอาดทุกครั้งหลังขับถ่ายของเหลว เช่น อุจจาระ คราบอาเจียน เป็นต้น
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังใช้ห้องน้ำ หลังดูแลผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส ก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนเตรียมอาหาร ทั้งนี้ ไม่ควรใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์แทนสบู่ เพราะไม่อาจกำจัดเชื้อไวรัสได้
  • หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน โรงพยาบาล อย่างน้อย 2 วันหลังจากไม่มีอาการป่วยแสดงให้เห็นแล้ว
  • ผู้ดูแลควรสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ หรืออาเจียน และทิ้งขยะที่มีสารคัดหลั่งปะปนในถุงพลาสติกที่ปิดมิดชิด โดยแยกจากขยะชนิดอื่นๆ
  • ซักเสื้อผ้าและเครื่องนอนที่อาจมีเชื้อไสรัสปะปนด้วยน้ำร้อน เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อถูกกำจัดจนหมด

 

 

ข้อมูล : Pobpad