'โรคเกาต์เทียม' ภัยเงียบ 'สูงวัย' ปวดข้อ 'เฉียบพลัน-เรื้อรัง'
'สูงวัย' 60 ปีขึ้น เสี่ยง 'โรคเกาต์เทียม' ภัยเงียบ 'โรคข้ออักเสบ' เกิดจากร่างกายสะสมผนึกเกลือซีพีพีดี แนะวิธีสังเกตอาการ มีทั้งปวดข้อ 'เฉียบพลัน-เรื้อรัง'
จากกรณี 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าพบแพทย์ และเข้ารับการรักษาอาการมือข้างขวาอักเสบ บวมและมีอาการปวดรุนแรง ภายหลังเดินทางกลับจากลงพื้นที่ จ. พระนครศรีอยุธยา เบื้องต้นพบว่าอาการข้ออักเสบคล้ายนิ้วล็อค ไม่สามารถกำมือได้ทั้งหมด เป็นลักษณะคล้ายอาการของ "โรคเกาต์เทียม" ล่าสุดผอ.พระมงกุฎเกล้า วินิจฉัยพบว่ามือขวาติดเชื้อ ไม่ใช่โรคเกาต์เทียม
ทว่าวันนี้ "คม ชัด ลึก" พาไปทำความรู้จัก "โรคเกาต์เทียม" เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากร่างกายสะสมผลึกเกลือแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรท "calcium pyrophosphate dehydrate (CPPD)" ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกันป้องกันสะสมผลึกเกลือ CPPD สาเหตุของโรคเกาต์เทียมได้ แต่รักษาได้
โรคนี้มีอาการและอาการแสดงอย่างไรบ้าง และผู้ป่วยโรคนี้อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการและอาการแสดงต่างๆ กันออกไป เช่น บางรายมาด้วยอาการ "ข้ออักเสบ" เฉียบพลันแบบเป็นๆ หายๆ เลียนแบบ "โรคเกาต์" บางรายอาจมาด้วยอาการปวดข้อเรื้อรังแบบโรคข้อเข่าเสื่อม หรืออาจพบร่วมกับโรคข้อเข่าเสื่อมได้
บางรายอาจมาด้วยอาการ "ข้ออักเสบ" เรื้อรังชนิดหลายข้อเลียนแบบโรครูมาตอยด์ได้บางรายอาจมาด้วยอาการข้ออักเสบเรื้อรังและมีการทำลายข้อได้ และมีในบางรายอาจไม่มีอาการแต่สามารถตรวจพบได้ทางภาพรังสี
"โรคเกาต์เทียม" พบได้บ่อยใน "ผู้สูงอายุ" โดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย นอกจากนี้สามารถพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซั่มบางอย่าง เช่น ฮีโมโครมาโตซิส พาราธัยรอยด์ฮอร์โมนสูง แมกนีเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก
"โรคเกาต์เทียม" มีความแตกต่างกับโรคเกาต์ ซึ่งโรคเก๊าท์เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งหมายถึงภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือด (serum uric acid, SUA) สูงกว่าปกติ (สูงกว่า 7 มก./ดล.) ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือ "โมโนโซเดียมยูเรต" (monosodium urate; MSU) บริเวณข้อและเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย โดยเฉพาะรยางค์ส่วนปลาย เช่น มือ และ เท้า ทั้งอาจทำให้เกิดก้อนโทฟัส (tophus) บริเวณข้อ เนื้อเยื่อผิวหนัง และท่อไตซึ่งอาจนําไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) ได้ และการสะสมของผลึก MSU นี้ จัดเป็นสิ่งระคายเคืองต่อร่างกายที่จะกระตุ้นกระบวนการอักเสบ (inflammatory response) ทําให้เกิดภาวะข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute arthritis) ขึ้น
สำหรับแนวทางการรักษาและป้องกัน "โรคเกาต์เทียม" มีการรักษาทางยา ในรายที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาลดการอักเสบ เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรืออาจใช้ยาโคลชิซีน เหมือนกับการรักษาในโรคเก๊าท์แท้ ในรายที่มีน้ำในข้อมาก การดูดเอาน้ำไขข้อออกจะช่วยลดการอักเสบของข้อได้
ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยารับประทาน อาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อ ซึ่งการรักษาแบบนี้ไม่ควรจะกระทำบ่อย การทำกายภาพบำบัด เป็นส่วนสำคัญเหมือนกับการดูแลข้ออักเสบทั่วไป ค้นหาโรคที่พบร่วมกับ "โรคเกาต์เทียม" พร้อมให้การรักษาที่เหมาะสม เพื่ออาจลดการตกตะกอนของผลึกเกลือที่กระดูกอ่อนผิวข้อเพิ่มขึ้น
อ้างอิง: รพ.กรุงเทพ ,ศูนย์ศรีพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบ: ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี