ไลฟ์สไตล์

คอชาบู​ หมูกระทะ​ เสี่ยง​ 'นิ่วในถุงน้ำดี'​ สังเกตอาการเป็นอย่างไร

คอชาบู​ หมูกระทะ​ เสี่ยง​ 'นิ่วในถุงน้ำดี'​ สังเกตอาการเป็นอย่างไร

18 มี.ค. 2566

คอชาบู​ หมูกระทะเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี​ ถ้าอักเสบอาจต้องผ่าตัด​ หมดโอกาสกินอาหารหวานมัน แพทย์เตือนระมัดระวังพฤติกรรมการกินอาหาร

วันนี้​ "คม​ ชัด​ ลึก" จะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ไว้แต่เนิ่นๆ ผ่านบทความความ​  นพ.สมเดช เจริญสรรพพืช​  ผู้เชี่ยวชาญ​ศัลยศาสตร์​ โรงพยาบาลพระราม​ 9​

 

นพ.สมเดช เจริญสรรพพืช​  ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์​ โรงพยาบาลพระราม​ 9​

 

"นพ.สมเดช เจริญสรรพพืช" ให้ข้อมูลว่า​  "พฤติกรรมชอบกินอาหารหวาน" หรืออาหารไขมันสูงเป็นประจำ โดยเฉพาะพวกของทอดของปิ้งย่าง หรือชาบู อาจส่งผลให้สมดุลของน้ำดีเสียไป ทำให้เกิดก้อนผลึกขึ้นในถุงน้ำดี เกิดเป็น​ "นิ่วในถุงน้ำดี" ขึ้นได้

 

 

หากเป็นนิ่วในถุงน้ำดีถึงขั้นอักเสบแล้ว อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ทำให้แทบจะหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารหวานมันเหมือนเมื่อก่อน ถ้าไม่อยากเป็นแบบนั้น ก็ควรระมัดระวังพฤติกรรมการกินอาหาร
 

"นิ่วในถุงน้ำดี" (Gall Stone) เป็นโรคที่เกิดจากการตกตะกอนของสารต่างๆ ในน้ำดี ทำให้เกิดนิ่วขึ้นที่ถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาทานอาหารประเภทไขมัน (แต่ก็มีกรณีที่ไม่แสดงอาการ) สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วออก

 

ความผิดปกติของถุงน้ำดีมักมาจากภาวะการอักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีเนื้องอก เกิดพังผืด ติดเชื้อ ได้รับการกระทบกระเทือน แต่สาเหตุส่วนมากของถุงน้ำดีอักเสบกว่าร้อยละ 95 เป็นผลมาจากการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone)

 

นพ.สมเดช​ บอกต่ออีกว่า​ กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ คือในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป, ​ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์, ​ในกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วน, ผู้ที่ลดน้ำหนักรวดเร็วเกินไป โดยเฉพาะการลดด้วยวิธีอดอาหาร​

 

ส่วนกลุ่มลูกๆ​ ที่พ่อแม่เคยเป็นโรคนี้ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป,
คนที่มีพฤติกรรมในการกินอาหารที่มีไขมันสูง,  ผู้ที่รับประทานยาลคอเลสเตอรอล หรือยาคุมกำเนิด, ผู้ที่เป็นโรคเลือดบางโรค เช่น โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

คำถามที่พบบ่อย​ คือ​ เด็กมีสิทธิ์เป็นหรือไม่ แม้ว่ากลุ่มเสี่ยงตามที่ได้กล่าวไปแล้วจะไม่ใช่เด็ก แต่ก็มีปัจจัยกระตุ้นให้เด็กเป็นโรคดังกล่าวได้ เช่น โรคธาลัสซีเมีย ภาวะที่ผิดปกติของทางเดินน้ำดี มีพ่อแม่ที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี (พันธุกรรม) ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 

 

รวมถึง​เด็กมีภาวะอ้วน มีน้ำหนักเกิน หรือมีพฤติกรรมการกินที่เน้นอาหารหวานมัน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วยเช่นกัน​ ชอบกินของทอดของมัน ให้ระวัง​ เมื่อเรากินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ อาจทำให้เกิดการตกตะกอนของคอเลสเตอรอล ร่วมกับเกลือแร่และโปรตีนที่ไม่สมดุลในน้ำดี จนเกิดเป็นก้อนนิ่วอุดตันอยู่ภายใน เมื่อสะสมมากเข้า ทำให้การทำงานของถุงน้ำดีแย่ลง หากปล่อยไว้ อาจเกิดการอักเสบในที่สุด

 

นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการอย่างไรบ้าง​ ในช่วงแรกที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี บางคนอาจจะยังไม่แสดงอาการอะไร หรือมีอาการ แต่ไม่ทราบว่าเป็นนิ่วและไม่ได้ไปตรวจ แต่เมื่อผ่านไปนานวันเข้า นิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือสะสมเพิ่มจำนวนขึ้น จึงเริ่มมีอาการ

 

อาการในช่วงแรก ถ้ายังไม่รุนแรงมาก มักจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่กินอาหารที่มีไขมันสูงเข้าไป ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการบวมตึงในถุงเพราะการคั่งของของเหลว มีลักษณะอาการที่สังเกตได้ ดังนี้​ แน่นท้อง ท้องอืด มีลมมาก​ ปวดจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ และอาจปวดร้าวไปบริเวณสะบักขวา​ อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

 

ข้อสังเกตคือ มักจะมีอาการหลังกินอาหารมัน ๆ หรือช่วงเวลากลางคืน และมักจะเป็นอยู่  1 – 2 ชั่วโมงก็หาย และขณะมีอาการ ผู้ป่วยจะยังพอขยับตัวได้

 

โดยทั่วไปพบว่า หากเริ่มมีอาการแล้ว ก็มักจะเป็นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น (เนื่องจากก้อนนิ่วมักไม่ได้หายไปไหน มีแต่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ) เมื่อเริ่มมีก้อนนิ่วภายในถุงน้ำดีแล้ว มีโอกาสเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis) ได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่า โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้​ มีอาการปวด จุกแน่น เหมือนอาการที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่มีอาการยาวนาน 4 – 6 ชั่วโมงแล้วยังไม่หาย
มีอาการปวดท้องแบบรุนแรง หรือปวดจุกเสียดรุนแรงบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา​

 

มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
ปัสสาวะเหลืองเข้ม หรืออุจจาระสีซีด
เป็นไข้ มีอาการหนาวสั่น (ร่วมกับอาการข้างต้น)  คลื่นไส้ อาเจียน (ร่วมกับอาการข้างต้น)

 

สัญญาณของการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี คือมีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย อาเจียนปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณช่วงท้องส่วนบนด้านขวา โดยปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น

 

ข้อสังเกตคือ ผู้ป่วยแทบจะขยับตัวไม่ได้เลย เพราะจะปวดมาก และถ้าหากพบว่ามีอาการดังกล่าวแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์
โดยด่วน

 

ข้อมูล:โรงพยาบาล​ พระราม​ 9