ไลฟ์สไตล์

ดื่มน้ำมากๆ ผลเสีย อันตรายถึงตายได้ กลุ่มคนลดน้ำหนักเสี่ยงสุด

ดื่มน้ำมากๆ ผลเสีย อันตรายถึงตายได้ กลุ่มคนลดน้ำหนักเสี่ยงสุด

21 มี.ค. 2566

นักแสดงสาว "เจนิส เจณิสตา พรหมผดุงชีพ" เล่าอุทาหรณ์ ดื่มน้ำมากเกินไป เกือบขั้นวิกฤต นักโภชนาการเตือนดื่มน้ำมากๆ ผลเสีย อาจเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ อันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดื่มน้ำมากๆ เป็นผลดีต่อร่างกายคือข้อเท็จจริง แต่ต้องดื่มให้เหมาะสมเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพราะ “ดื่มน้ำมากๆ ผลเสีย” จะเกิดอาการคล้าย "เจนิส" เจณิสตา พรหมผดุงชีพ นักแสดงสาวที่เผยแพร่ภาพบนโซเซียลขณะนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หลังติดเชื้อไวรัส-ประสาทสัมผัสไม่ดี เพราะดื่มน้ำมากเกินไป 

 

เจณิสตา พรหมผดุงชีพ หรือ เจนิส นักแสดงสาวเจ้าของประสบการณ์การเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล  หลังจากดื่มน้ำมากเกินไป

น.ส.กุลธิดา รักกลัด นักโภชนาการปฏิบัติการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงการดื่มน้ำมากๆ ผลเสีย คือปริมาณน้ำในเลือดมาก และภาวะโซเดียมในเลือดน้อยเกินแบบเจือจาง (Dilutional Hyponatremia) ซึ่งเรียกว่า “ภาวะน้ำเป็นพิษ” (Water intoxication or Water poisoning) อาการที่พบคือ ปวดศีรษะ ตะคริว ชัก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน บวม ส่งผลกระทบต่อเซลล์สมอง ซึ่งอาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้  

 

 

น.ส.กุลธิดา รักกลัด นักโภชนาการปฏิบัติการ

 

ผลกระทบการได้รับน้ำมากเกินกว่าอันตรายการขับถ่ายของไตจะมีผลทำให้เกิดภาวะ hypoosmolarity ส่งผลให้มึนงง ความคิดสับสน หมดสติ ชักและอาจเสียชีวิตได้ แต่เป็นภาวะที่เกิดได้ยากในคนปกติที่มีสุขภาพดี 

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะน้ำเป็นพิษ เพราะพวกเขาอาจคิดว่าต้องการน้ำมากกว่าที่กำลังบริโภคอยู่ อาจจะเนื่องจากมีการใช้ยา หรือสภาพจิตใจ เช่น ผู้ที่มีความพยายามจะลดน้ำหนัก ด้วยการดื่มน้ำในปริมาณมาก โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ที่เคยใช้ยาเสพติด รวมถึงแอลกอฮอล์ และพยายามที่จะกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกจากร่างกายด้วยการดื่มน้ำมากๆ สำหรับความต้องการน้ำในแต่ละวันนั้น ไม่ได้มีปริมาณที่เฉพาะเจาะจง เพราะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว กิจกรรมระหว่างวัน การออกกำลังกาย และสภาพภูมิอากาศ

 

คำถามก็คือว่า ต้องดื่มน้ำเท่าไรจึงจะเหมาะสม และเท่าไรคือปริมาณมากเกินไป น.ส.กุลธิดา ระบุว่า ปริมาณมากเกินไปคือ 6-7 ลิตร เพราะความจริงแล้วร่างกายต้องการน้ำเฉลี่ยวันละ 8-10 แก้ว 1.5-2 ลิตร/คน/วัน หรือดื่มเพิ่มตามน้ำหนักตัว ช่วงหน้าร้อน ไม่ควรดื่มน้ำคราวเดียวทีละมากๆ แต่ควรจิบบ่อยๆ ตลอดวัน 

 

 

ดื่มน้ำอย่างไรให้เพียงพอต่อร่างกาย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ข้อมูลไว้ว่า ร่างกายของแต่ละคนต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างกัน คำนวณได้โดยใช้สูตร น้ำหนัก x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ (มล.) เช่น น้ำหนักตัว 55 x 2.2 x 30/2 = 1,815 มล. คือปริมาณที่ควรดื่มต่อวัน ถ้าหากดื่มน้ำได้น้อยกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการก็จะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายขับของเสียได้ยาก และเมื่อเลือดไหลเวียนไม่สะดวกก็ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือด เลือดข้น อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ

 

 

การดื่มน้ำควรเริ่มดื่มหลังจากตื่นนอนในตอนเช้าประมาณ 2 แก้ว เพราะร่างกายขาดน้ำมาตลอดทั้งคืน จะได้ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี และช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือกทำงานได้เป็นปกติ หลังจากนั้นควรดื่มน้ำก่อนมื้ออาหารประมาณ 1 ชม. 

          
 
 
ข้อมูล:สำนักโภชนาการ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)