ไลฟ์สไตล์

'ตรวจภายใน' เจ็บไหม​ เขินอายไม่กล้า เหตุผลผู้หญิงป่วยรุนแรงรักษาไม่หาย

'ตรวจภายใน' เจ็บไหม​ เขินอายไม่กล้า เหตุผลผู้หญิงป่วยรุนแรงรักษาไม่หาย

23 มี.ค. 2566

การ 'ตรวจภายใน' จะว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงก็ว่าได้​ ทั้งเขินอาย​ กลัวเจ็บ​ เหตุผลเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงป่วยด้วยโรคนรีเวช การตรวจภายในจึงมีความสำคัญมาก

ผู้หญิงหลายคนยังกลัวการตรวจภายใน รู้สึกเขินอาย กลัวเจ็บขณะตรวจ​ จนไม่ได้เข้ารับการตรวจภายในช่วงวัยที่ควรตรวจ​ บางคนพบโรคตอนอาการหนักแล้ว​ ความกลัวจึงเป็นหนึ่งสาเหตุที่หญิงไทยเสียชีวิตไม่น้อย​ วันนี้​ คม​ชัด​ลึก ​ จะพาไปหาคำตอบว่า  "ตรวจภายใน" เจ็บไหม​ตรวจภายในสำคัญแค่ไหน​

กระทรวงสาธารณสุข​ ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยโรค มะเร็งปากมด ลูกทั่วโลก​ พบถึงปีละ 500,000 คน เสียชีวิตปีละ 200,000 คน​ เฉพาะในประเทศไทย​ มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่คร่าชีวิตหญิงไทยเป็นอันดับ​ 2​ โดยเพิ่มขึ้น 10,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 27 คน และมีผู้เสียชีวิต 5,200 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน​

 

มะเร็งปากมดลูก​ เป็นมะเร็งอันดับที่ 2 ที่คร่าชีวิตหญิงไทย

 

 

ตัวเลขผู้ป่วยใหม่สูงขึ้นทุกปี​ แม้มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ง่าย​ และไม่ใช่โรคทางพันธุ์กรรม​ นาวาอากาศเอก​ นพ.ภานนท์ เกษมศานติ์​ แพทย์สูติศาสตร์-นรีเวชด้านมะเร็ง​ ได้อธิบายการป้องกันมะเร็งปากมดลูก​ มี​ 3​  วิธี​ ได้แก่ 1. การฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV)​  เป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกก่อนติดเชื้อ ที่มีในเมืองไทยมาแล้ว กว่า 20 ปี เน้นป้องกันอยู่ 2 สายพันธุ์หลักๆ 70% ที่เป็นต้นเหตุของการก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18

 

 

เพราะฉะนั้นถ้าฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีการสัมผัสเชื้อสองตัวนี้ได้ก็จะดีที่สุด และสามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 9-10 ขวบ และมีการทำวิจัยพบว่า สำหรับเด็ก ไม่จำเป็นต้องฉีด 3 เข็มเหมือนผู้ใหญ่ ถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถฉีดวัคซีน แค่ 2 เข็มก็มีภูมิคุ้มกันต่อ 2 สายพันธุ์หลัก ป้องกันได้ 100% 

 

2. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) 

 

3.​ การตรวจภายใน​สามารถค้นหาโรคมะเร็งปากมดลูก​ได้ แต่ยังจะพบความผิดปกติอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรี เช่น เนื้องอกในมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ ถุงน้ำในรังไข่ หรือช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย​ ซึ่งเป็นโรคที่ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ตัว โรคเหล่านี้ก็อาจเข้าสู่ระยะรุนแรง และอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

 

 

การ  "ตรวจภายใน" เป็นการตรวจเพื่อประเมินสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โดยเรียงจากข้างนอกเข้าไปข้างใน ได้แก่ ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก และรังไข่

 

ส่วนต่างๆ​ ของมดลูก

 

คำถามก็คือว่า​ ผู้หญิงกลุ่มไหนบ้างที่ต้องตรวจภายใน​ คำตอบคือ​ ผู้หญิงที่มีความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ ไม่มีประจำเดือน เคยมีประจำเดือนแล้วหายไปโดยไม่มีการตั้งครรภ์ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน​ มีตกขาวผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น คัน หรือมีน้ำไหลออกทางช่องคลอด​ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์​

 

มีแผลบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ภายนอก หรือในช่องคลอด​ ปวดบริเวณท้องน้อย หรือช่องคลอดเจ็บปวด หรือแสบเวลามีเพศสัมพันธ์​ ปัสสาวะกะปิดกะปรอย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดเวลาไอจาม​ คลำเจอก้อนในช่องท้อง หรือท้องโตเร็วผิดปกติ​ มีภาวะมีบุตรยาก​ เป็นต้น​ ควรรีบตรวจภายในทันที

 

กรณีไม่มีแฟน ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ จำเป็นต้องตรวจภายในไหม? ไม่ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน  ทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด โดยสามารถเริ่มตรวจภายในได้เมื่อมีอายุ 21 ปีขึ้นไป 

 

ส่วนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แพทย์จะใช้เครื่องมือตรวจที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดความเจ็บปวดในขณะตรวจได้  แต่อาจรู้สึกตึงๆ หรือเจ็บเล็กน้อยขณะที่แพทย์ตรวจภายใน​ ส่วนผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว จะไม่รู้สึกเจ็บขณะตรวจภายใน​

 

อีกหนึ่งข้อสงสัย​ คือ​ เวลาไปตรวจภายในต้องโกนขนไหม​ ทางการแพทย์ระบุไว้ว่า​ ไม่ควรโกนขน เพราะการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมบางโรค แพทย์จะต้องตรวจดูลักษณะขนบริเวณอวัยวะเพศด้วย​

 

การตรวจภายในนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรละเลย เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บ ไม่น่ากลัว ใช้ระยะเวลาตรวจไม่นาน ประมาณ 15-30 นาที ก็จะช่วยให้คุณรู้สุขภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รู้เท่าทันโรคทางนรีเวชที่อาจเกิดขึ้นได้ และเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที