24 มีนาคม 'วันวัณโรคโลก' โรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ที่คร่าชีวิตมาแล้วมากมาย
24 มีนาคม 'วันวัณโรคโลก' โรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ที่คร่าชีวิตผู้คนมาแล้วมากมาย พร้อมเปิด 7 วิธี ป้องกันการติดเชื้อ
'วันวัณโรคโลก' (World Tuberculosis Day) หรือ วันวัณโรคสากล ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) ได้เสนอให้กำหนดวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี เป็น วันวัณโรคโลก (World TB Day) อย่างเป็นทางการ เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก
วัณโรค นับเป็น โรคติดต่อ ชนิดหนึ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ในสมัยก่อนวัณโรคเป็นที่รังเกียจของสังคม เพราะเมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือดและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยในเวลาต่อมาก็จะเบื่ออาหารจนร่างกายผ่ายผอมจนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด
'วันวัณโรคโลก' ประวัติเป็นมาอย่างไร
ทั้งนี้ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2425 ดร.โรเบิร์ต คอช (Dr.Robert Koch) ประกาศการค้นพบสาเหตุโรควัณโรคคือเชื้อแบคทีเรีย Tubercle bacillus เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นวัณโรคแพร่กระจายทั่วยุโรปและอเมริกาและเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 1 ใน 7 ของประชากรทั้งหมด การค้นพบครั้งนี้จึงช่วยเบิกทางในการคิดค้นวิธีรักษาวัณโรค
สถาณการณ์ โรควัณโรค ในประเทศไทย
วัณโรค เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย องค์การอนามัยโลก จัดให้เป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรค วัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง จากรายงานองค์การอนามัยโลกปี 2559 คาดประมาณว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรค 120,000 ราย ผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี 15,000 ราย
วัณโรค อันตรายไหม ?
โรควัณโรค หรือ TB เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส (Mycobacleriumtuberculosis) สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ร้อยละ 80 เกิดที่ปอด ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีความชุกของโรคอยู่มาก เพราะพบผู้ป่วยจำนวนมากทุกปี แต่โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักเกิดกับเด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มาก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
อาการของผู้ป่วยวัณโรค
- ผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
- หนาวสั่น ไข้ต่ำ ในตอนกลางคืนมักจะมีเหงื่อออก
- เมื่อเริ่มป่วยในระยะแรกมักจะมีอาการไอแห้ง หลังจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะ เมื่อเข้านอนก็จะยิ่งมีอาการไอหนักมาก ทั้งช่วงเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้าและในหลังอาหารด้วย
- อาการไอเรื้อรังจะคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ บางรายที่ไอมากๆ จะมีอาการหอบด้วยหรือไอเป็นเลือดก้อนแดงๆ หรือเลือดสีดำปนออกมาพร้อมกัน
- ในรายที่เป็นเด็กอาการจะรุนแรงหนักกว่าผู้ใหญ่เพราะภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่า
- ผู้ป่วยบางรายที่ยังเป็นน้อยๆ อาจจะไม่มีอาการไอเลย ทว่าจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแทน
หากมีอาการไอเรื้อรัง มีเลือดปน เบื่ออาหาร ร่างกายผ่ายผอม ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันเวลา หากวินิจฉัยว่าเป็นโรควัณโรค ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากทานยาตามแพทย์สั่งและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
วิธีป้องกันตัวเองจาก วัณโรค
1. หากจำเป็นต้องทำงานอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ให้ออกมาสูดอากาศภายนอกบ้างในระหว่างวัน
2. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์
3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ
4. สวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีความเสี่ยงต่อการอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรค
5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV
6. ลดการดื่มแอกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอย่าใช้สารเสพติด
7. ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
วันวัณโรคสากล ปี 2566 นี้ ทาง Stop TB Partnership และ องค์กรต่างๆระดับนานาชาติ ได้ใช้ Theme เพื่อเป็นข้อความสื่อไปถึงทุกภาคส่วน ร่วมกันรณรงค์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ YES! WE CAN END TB สำหรับประเทศไทยใช้ Theme หลักคือ "ยุติวัณโรค เราทำได้" จากช่วงเวลาการระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยต้องทำงานอย่างหนักกับการควบคุมป้องกันวัณโรค ไปควบคู่กับ COVID-19
แต่ถึงอย่างไร การดำเนินงานควบคุมป้องกัน วัณโรค หลายๆ ส่วน เราทำได้ดี เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อการเข้าถึง การดูแลรักษาวัณโรค การปรับเปลี่ยนสูตรยารักษาและยาป้องกันวัณโรคที่สั้นลงตามแนวทางองค์การอนามัยโลก การนำเทคโนโลยีการวินิจฉัยใหม่ๆ และอื่นๆ มาปรับใช้ในแผนงานวัณโรคแห่งชาติ
ทั้งหมดนั้นเราสามารถทำได้ นำมาซึ่งความหวัง และต่อยอดความสำเร็จ เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายการยุติวัณโรคของแผนปฏิบัติการระดับชาติ อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายอันสูงสุด (Vision) คือ TB-Free Thailand For TB-Free World "เมืองไทยปลอด วัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค" ต่อไป
ข้อมูล : กองวัณโรค