'ฮีทสโตรก' ภัยร้ายหน้าร้อน ระวัง! ตากแดดอันตรายถึงชีวิต
ทำความรู้จัก 'ฮีทสโตรก' หรือ 'โรคลมแดด' ภัยร้ายในช่วงหน้าร้อน ที่ทำเอาหลายคนถูกหามส่งโรงพยาบาล หลังจากอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเอาหลายคนถูกหามส่งโรงพยาบาลด้วย “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” วันนี้ คมชัดลึก จะพาไปรู้จัก “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และหากกับคุณหรือคนใกล้ตัวจะมีวิธีรักษาอย่างไร รวมถึงการป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะ “ฮีทสโตรก”
สาเหตุโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป เกิดจากการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนจัดหรือการออกกำลังกายเป็นเวลานานโดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ โดยอาการอาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาล่าช้าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก
อาการของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก เกิดขึ้นได้ในทันทีโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือน และอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ร่างกายไม่ขับเหงื่อออกแม้จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูง
- ผิวหนังแดง เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูง
- ผิวหนังของผู้ป่วยจะแห้งและร้อน แต่กรณีที่เป็นโรคลมแดดจากการออกกำลังกายผิวอาจมีความชื้นอยู่บ้าง
- เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- หายใจถี่และตื้น
- หัวใจเต้นเร็ว
- มีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีอาการชัก
- วิงเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด หรือเป็นลมหมดสติ
- มีสภาพจิตใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สับสนมึนงง กระสับกระส่าย หงุดหงิด พูดไม่ชัด มีอาการเพ้อ หรือไม่สามารถทรงตัวได้
สาเหตุของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ที่สำคัญของโรคลมแดด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นและไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ เช่น เมื่อต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นเป็นเวลา 2 หรือ 3 วันติดต่อกัน มักจะเกิดขึ้นบ่อยกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง
- การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาก เมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจรรมที่ใช้กำลังมาก โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดมักเป็นเหตุทำให้เกิดโรคลมแดดได้ อย่างไรก็ตาม โรคลมแดดประเภทนี้อาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน
ปัจจัยอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคลมแดดในแต่ละประเภทข้างต้น ได้แก่
- สวมใส่เสื้อผ้ามากชิ้นเกินไป เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ไม่ดี และมีสีเข้ม
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายขาดประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิ
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ไม่มีน้ำทดแทนจากการเสียเหงื่อ
การรักษาโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก
การรักษาโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย ด้วยการทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเป็นปกติโดยเร็ว
เบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล คนรอบข้างอาจช่วยเหลือผู้ป่วยได้โดยการนำตัวไปไว้ในที่ร่มหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ถอดหรือคลายเสื้อผ้าที่คับแน่นออก และประคบด้วยความเย็น
วิธีการรักษาเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง ได้แก่
- ให้ผู้ป่วยอาบน้ำเย็นหรือแช่ตัวลงไปในน้ำเย็น เป็นวิธีที่จะช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงได้อย่างรวดเร็ว
- แพทย์บางท่านจะใช้เทคนิคการระเหย โดยใช้น้ำเย็นชโลมตามผิวหนังของผู้ป่วยและใช้พัดลมเป่าให้เกิดการระเหย ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายเย็นลง
- ใช้แพคน้ำแข็งประคบไปที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ คอและหลัง เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีเส้นเลือดที่ใกล้กับชั้นผิวหนังอยู่จำนวนมาก วิธีนี้จะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้เป็นอย่างดี
- พยายามทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงมาที่ประมาณ 38.3-38.8 องศาเซลเซียส โดยคอยเฝ้าดูด้วยเทอร์มอมิเตอร์ ในขณะที่ยังคงใช้วิธีรักษาเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
- หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ควรให้ดื่มน้ำเย็นที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- วิธีการรักษาเพื่อทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหนาวสั่น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้น แต่ทำให้วิธีการรักษาโรคลมแดดมีประสิทธิภาพลดลง แพทย์จึงอาจให้ผู้ป่วยใช้ยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง เช่น ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) เพื่อบรรเทาอาการหนาวสั่น
- แพทย์อาจให้น้ำเกลือหรือเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ
การป้องกันโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ทำได้หลายวิธี ดังนี้
- วิธีที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดโรคลมแดด คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมาก โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีอากาศร้อนและชื้น แต่หากจำเป็นก็ควรดื่มน้ำสะอาดให้มาก และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ
- คอยดูการแจ้งเตือนการเกิดคลื่นความร้อน ในช่วงฤดูร้อน เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงหรือเตรียมตัวป้องกัน
- หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ต้องปกป้องตนเองจากแสงแดด ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายระบายอากาศได้ดี สีอ่อน หรือสวมหมวกปีกกว้าง รวมไปถึงใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด 15 ขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงออกไปกลางแจ้งในช่วงที่มีอากาศร้อน เวลาประมาณ 11.00-15.00 น. ของแต่ละวัน แต่หากจำเป็นให้พยายามอยู่ในที่ร่มและเตรียมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดให้พร้อม
- หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีอากาศร้อน ให้ระมัดระวังในช่วงวันแรก ๆ เพราะร่างกายกำลังปรับตัวกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น สลัดและผลไม้
- ใช้น้ำพรมตามผิวหนังและเสื้อผ้า หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ วางไว้ที่คอ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
- หมั่นสังเกตพฤติกรรมการปัสสาวะของตนเอง หากไม่ค่อยถ่ายหรือปัสสาวะมีสีเข้ม แสดงว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้มาก
- จัดการสภาพแวดล้อมหรือที่พักอาศัยให้เย็นสบาย เช่น การปิดหน้าต่างหรือผ้าม่านบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดด หรือหากต้องการนอนหลับพักผ่อน ควรไปอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม นอกจากนั้น ควรปิดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เพราะเป็นแหล่งกำเนิดความร้อน และการปลูกต้นไม้และวางอ่างน้ำไว้บริเวณที่พักอาศัยจะช่วยให้อุณหภูมิเย็นลงได้
- ระวังอย่าให้เด็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ในรถที่จอดเอาไว้ โดยเฉพาะหากจอดเอาไว้กลางแดด เพราะภายใน 10 นาที อุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้นมากว่า 6 องศาเซลเซียส ซึ่งมีอันตรายมาก
- ควรเฝ้าระวังผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมแดดได้มาก
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดหรือเป็นโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาเมื่อต้องเจอกับอากาศร้อน ควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อนและหากมีสัญญาณของอาการที่ผิดปกติ ควรรีบหาทางรักษาหรือทำให้ร่างกายเย็นลงโดยเร็ว และหากจำเป็นต้องทำกิจกรรมหรือแข่งกีฬาที่อยู่ในสภาพอากาศร้อนหรือกลางแจ้ง ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีบริการทางการแพทย์เตรียมพร้อมอยู่
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม ควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ พร้อมกับดื่มน้ำในปริมาณมาก
ข้อมูลอ้างอิง : กรมควบคุมโรค กระทรวงมหาดไทย