ไลฟ์สไตล์

'ง่วงหลังกินข้าว' เป็นอาการ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ เปิด 6 วิธีแก้

'ง่วงหลังกินข้าว' เป็นอาการ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ เปิด 6 วิธีแก้

12 พ.ย. 2566

'ง่วงหลังกินข้าว' หรือ Food Coma เป็นอาการ ที่กระทบต่อ 'สุขภาพ' เกิดจากอะไร เปิด 6 วิธี แก้อาการ และ อาหารแก้ง่วง

“ง่วงหลังกินข้าว” อาการแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนต้องประสบพบเจอมา หรือที่เรียกว่า “หนังท้องตึง หนังตาหย่อน” แต่รู้หรือไม่ว่าง่วงหลังกินข้าว เป็นอาการที่มีชื่อเรียก และมีคำอธิบายตามหลักทางการแพทย์อีกด้วย

ง่วงหลังกินข้าว

“ง่วงหลังกินข้าว” หรือเรียกว่า “ฟู้ดโคม่า” (Food Coma) ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Postprandial somnolence อาการนี้มักเกิดในช่วงหลังมื้อกลางวัน (ชาวออฟฟิศน่าจะรู้กันดี) และยิ่งถ้าเป็นอาหารกลางวันมื้อใหญ่ จัดเต็มทั้งคาวหวาน ยิ่งทำให้อาการฟู้ดโคม่านั้นรุนแรงขึ้น

 

 

ทำไม “ง่วงหลังกินข้าว”

 

“ง่วงหลังกินข้าว” Food Coma เกิดจากการที่ร่างกายถูกกระตุ้นเมื่อทานอาหารมากเกินไป โดยอาหารมื้อนั้นประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต จำพวกแป้งและน้ำตาล โปรตีน และไขมัน เมื่อผ่านระบบการย่อยอาหารแล้ว ร่างกายจะกลั่นกรองน้ำตาล หรือกลูโคส ที่สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด นำไปใช้เป็นพลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังมีกรดอะมิโนชนิดหนึ่งมาจากอาหารที่เราทานเข้าไปเช่นเดียวกัน เรียกว่า ทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งสารนี้จะเข้าสู่สมอง และระบบประสาท ทำให้ลดความตึงเครียด และทำให้เราเกิดอาการง่วงนอนได้

 

 

สาเหตุ “ง่วงหลังกินข้าว” ไม่ได้เกิดแค่กินอิ่มเกินไป

 

การเกิดฟู้ดโคม่า (Food Coma) นอกจากการทานอาหารอิ่มจนเกินไปแล้ว แต่ยังรวมไปถึงนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ โหมงานหนักมากเกินไปในช่วงเวลาเช้า ทานอาหารประเภทแป้งและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ทานอาหารที่มีกรดไขมันมากไป ทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน และเมลาโทนินออกมา ซึ่งมีผลทำให้ง่วงนอน และรู้สึกเหนื่อยล้า แนะนำควรนอนหลับให้เพียงพอในเวลากลางคืน โดยพักผ่อน 7-8 ชั่วโมงต่อคืน เพราะเป็นเวลาที่ไม่มากเกินและไม่น้อยเกินไป และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของการนอนหลับที่ดี

 

ง่วงหลังกินข้าว

6 วิธีเอาชนะ อาการ “ง่วงหลังกินข้าว” 

 

 

  1. ปรับเมนูมื้อเที่ยงใหม่ ควบคุมปริมาณ และเปลี่ยนมากินอาหารย่อยง่าย เน้นกินผัก และข้าวไม่ขัดสี ลดปริมาณเนื้อสัตว์ติดมัน แป้ง และข้าวขาวลง จะช่วยให้ร่างกายไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการย่อยอาหารที่ย่อยยาก
  2. หากหิวหรือเหงาปากในช่วงบ่าย แนะนำให้กินผลไม้รสเปรี้ยว แทนขนมหวาน หรือชาไข่มุก เพราะอาหารหวานๆ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้รู้สึกง่วง
  3. กินอาหารไกลออฟฟิศ จะได้เดินย่อยหลังกินเสร็จ เป็นการออกกำลังกายทางอ้อม ช่วยให้เลือดหมุนเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากกว่า เพิ่มความกระฉับกระเฉงในช่วงบ่ายได้
  4. นอนหลับให้เพียงพอในช่วงกลางคืน อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง แต่ถ้ามีเวลานอนไม่พอหรือนอนน้อย แนะนำให้ทำตามกฎ 90 นาที รับรองว่าตื่นมาแล้วสดชื่น ไม่ง่วงแน่นอน อ่านเพิ่มเติม นอนน้อยยังไงให้สดชื่น กับเคล็ด (ไม่) ลับ “กฎการนอนหลับ 90 นาที”
  5. หากง่วงมากๆ แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ เพื่อลดความเข้มข้นของเลือด ช่วยให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นได้ (การเดินเข้าห้องน้ำบ้างยังช่วยให้ไม่ง่วงได้ด้วย)
  6. เคลียร์งานสำคัญ ทำงานที่ต้องใช้สมองมากๆ ในช่วงเช้า จะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะสมองยังพร้อมรับ และกระฉับกระเฉง

 

อาหารแก้ง่วง

 

 

อาหารแนะนำ กินอิ่มแล้วง่วง

 

 

กินอาหารแต่ละมื้อให้พอดี ลดอาหารจำพวกแป้งย่อยยาก เช่น อาหารชุบแป้งทอด เส้นพาสต้า ก๋วยเตี๋ยว และขนมปังขัดสี แล้วหันมากินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่างข้าวซ้อมมือ, ขนมปังโฮลวีท, ธัญพืช, เมล็ดถั่ว, ซึ่งมีกากใยสูง, ทานผัก เช่น ถั่วลันเตา, ผักกาด, กะหล่ำปลี, สาหร่าย, เห็ด, แตงกวา, หัวหอม, มะเขือเทศ, แครอท, ฟักทอง ที่ให้พลังงานแก่ร่างกายในระยะยาว แถมเส้นใยอาหาร จะเป็นตัวช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้ขึ้นสูงมากและลงต่ำมาก

 

 

เปลี่ยนจากขนม ของหวานและเครื่องดื่มเติมน้ำตาลทั้งหลาย เป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวแทน นอกจากนี้ ระหว่างทานอาหาร อย่ารีบเคี้ยวแล้วกลืน ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อลดการใช้พลังงานการย่อยในกระเพาะอาหาร และดื่มน้ำให้เพียงพอ 

 

 

เพียงแค่นี้ ก็สามารถช่วยแก้อาการ “ง่วงหลังกินข้าว” Food Coma ได้ และสามารถทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ