ไลฟ์สไตล์

ทำความรู้จัก 'โมยาโมยา' โรคร้ายใกล้ตัว ก่อนสายเกินแก้

ทำความรู้จัก 'โมยาโมยา' โรคร้ายใกล้ตัว ก่อนสายเกินแก้

12 มิ.ย. 2566

โรค 'โมยาโมยา' พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ในเด็กพบมากที่สุดในช่วงประถมต้น ส่วนผู้ใหญ่มักมีอาการในช่วงอายุ 40 - 50 ปี

ผศ. นพ. ดิลก ตันทองทิพย์ ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายถึงโรคโมยาโมยา ไว้ดังนี้ โรค “โมยาโมยา” (Moya-Moya disease) คือ หนึ่งในโรคของหลอดเลือดสมอง เกิดจากการตีบของหลอดเลือดแดง Carotid ทั้งสองข้าง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ สมองจึงเกิดการปรับตัวและสร้างหลอดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ เพื่อช่วยเลี้ยงสมอง เนื่องจากหลอดเลือดที่สร้างใหม่มีขนาดเล็กเป็นฝอยและเปราะบางคล้ายกับกลุ่มควัน จึงเป็นที่มา ของชื่อโรค โมยาโมยา (ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า กลุ่มควัน)

 

โรค “โมยาโมยา” พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ในเด็กพบมากที่สุดในช่วงประถมต้น ส่วนผู้ใหญ่มักมีอาการในช่วงอายุ 40 - 50 ปี โรคโมยาโมยาพบมากในประชากรทวีปเอเชียมากกว่าฝั่งตะวันตก และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า ในประเทศญี่ปุ่นพบได้ 1 ใน 200,000 ราย โรคโมยาโมยาอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ และสัมพันธ์กับบางโรค เช่น โรคทางพันธุกรรม กลุ่มอาการดาวน์ โรคไทรอยด์ การฉายแสงบริเวณศีรษะ และโรคท้าวแสนปม

 

อาการของโรคโมยาโมยา

 

อาการของโรคโมยาโมยามีได้ทั้งสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองตีบ และเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดฝอยที่ผิดปกติ โดยจะสังเกตได้จากมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด (อัมพฤกษ์ อัมพาต) หรือปวดศีรษะรุนแรงจากเลือดออกในสมอง นอกเหนือจากนี้อาจมีอาการชักเกร็ง หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ป่วยเด็กมักมีอาการของสมองขาดเลือด ซึ่งถูกกระตุ้นจากการออกแรงหรือหายใจเร็ว เช่น ร้องไห้ หรือออกกำลังกาย ส่วนในผู้ใหญ่จะพบเลือดออกในสมองได้มากกว่าสมองขาดเลือด

 

การรักษาโรคโมยาโมยา

          

การรักษาโรค “โมยาโมยา” ได้แก่ การรักษาตามอาการ การควบคุมอาการชัก และการเพิ่มเลือดเพื่อไปเลี้ยงสมอง ซึ่งประกอบด้วย การรักษาด้วยยา และการผ่าตัดต่อหลอดเลือดสมอง การเลือกวิธีการรักษา แพทย์ผู้ดูแลจะประเมินอาการของผู้ป่วย และพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีให้ผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม