4 เรื่องราว 'กล้ามเนื้อ' พร้อมเคล็ด(ไม่)ลับการดูแล สุขภาพ หัวจรดเท้า
เคล็ด(ไม่)ลับที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับในการฟื้นฟูสุขภาพหัวจรดเท้า กับ 4 เรื่องราวเกี่ยวกับ 'กล้ามเนื้อ' ที่หลายคนยังไม่รู้
ทุกกิจกรรมในแต่ละวันล้วนต้องใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเดิน วิ่ง แดนซ์ หรือแม้กระทั่งการนอนนิ่งเฉยๆ และในขณะที่เรากำลังทำกิจกรรมต่างๆ อยู่นั้น มีหลายเรื่องราวเกี่ยวกับกล้ามเนื้อในร่างกายที่หลายคนอาจยังไม่รู้ และนี่คือ 4 เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ พร้อมเคล็ด(ไม่)ลับที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับในการดูแลสุขภาพของกล้ามเนื้อตั้งแต่หัวจรดเท้า
1. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเชื่อมโยงกับสุขภาพหัวใจ
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของไทย ปี 2565 การเสียชีวิตทั่วโลกมีสาเหตุสำคัญจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 32% หรือประมาณ 18 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 7 หมื่นราย โดยที่ผู้ป่วยหลายคนไม่ได้มีอาการบ่งชี้ของโรคจึงไม่ทราบว่าตัวเองกำลังประสบกับภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet พบว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ที่ประเมินจากแรงบีบมืออาจระบุความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดร้ายแรงได้แม่นยำกว่าการตรวจความดันโลหิตซิสโตลิก (ค่าความดันช่วงบน ซึ่งเป็นแรงดันสูงสุดขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว) นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition and Metabolic Care แนะว่าอัตราส่วนของมวลกล้ามเนื้อต่อมวลไขมันเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพโดยรวมที่ดีกว่าดัชนีมวลกาย (BMI)
ดังนั้น ในการเริ่มดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อควรเน้นในเรื่องของการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและโภชนาการสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำว่าควรกินโปรตีน 0.8 ถึง 1 กรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับคือ 48 – 60 กรัม ต่อวัน เพื่อกล้ามเนื้อและร่างกายที่แข็งแรง
2. เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้น
ในร่างกายประกอบด้วยกล้ามเนื้อกว่า 600 มัด คิดเป็น 40% ของร่างกาย และการสลายของกล้ามเนื้ออาจเริ่มต้นไวแบบไม่ทันตั้งตัว ผลการวิจัยพบว่าเมื่อถึงวัย 40 ปี กลุ่มวัยผู้ใหญ่จะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปได้มากถึง 8% ในทุกๆ 10 ปี และอัตราการสูญเสียนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่ออายุ 70 ปี การสูญเสียกล้ามเนื้อจึงอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในผู้สูงวัย และอาจมีความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น ทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มหรือขาดกำลังวังชาในการเดินขึ้นบันได การมีมวลกล้ามเนื้อน้อยยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้ออินซูลินจนอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ การสูญเสียกล้ามเนื้ออาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ต่อการหายใจได้
จากรายงานฉบับล่าสุดเรื่องปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย 2563 ของสำนักโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดโปรตีนถึง 42.6% อย่างไรก็ดี เรามีทางเลือกมากมายในการเพิ่มโปรตีนในแต่ละมื้อเพื่อเสริมสร้างสุขภาพกล้ามเนื้อที่ดีและร่างกายที่แข็งแรง
เราจึงควรให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ครบถ้วนจากอาหารหลัก 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน และอาจเสริมมื้ออาหารด้วยอาหารสูตรครบถ้วนที่มี HMB สารอาหารสำคัญที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของมวลกล้ามเนื้อ จึงช่วยส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรง นอกจากนี้ยังพบ HMB ได้ในปริมาณเล็กน้อยในอาหาร เช่น ไข่ไก่ อกไก่ เนื้อวัว และอะโวคาโด
3. กล้ามเนื้อที่แข็งแรงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ช่วงหลายปีมานี้ ทั่วโลกต้องเผชิญกับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องการเตรียมร่างกายให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นเหล่านี้ ดังนั้น หากต้องการเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ เรื่องสุขภาพของกล้ามเนื้อจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
มีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อมีบทบาทในการกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกัน หากมวลกล้ามเนื้อลดลงอาจส่งผลให้การทำงานตามปกติของระบบภูมิคุ้มกันลดลงด้วย
เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงควรรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารที่หลากหลายครบถ้วนและเพียงพอในปริมาณที่เหมาะสมโดยเน้นมื้ออาหารประจำวันไปที่โปรตีนที่มีไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ถั่วต่างๆ และนมไขมันต่ำ อาหารเหล่านี้มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม วิตามินดี เหล็ก และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง
4. การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
การออกกำลังกายเป็นการช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ง่ายที่สุด เพราะทุกครั้งที่ร่างกายใช้แรงจะเกิดแรงต้านกับกล้ามเนื้อและจะส่งสัญญาณให้ร่างกายหลั่งกรดอะมิโนจากโปรตีนไปยังกล้ามเนื้อเพื่อสร้างความแข็งแรงขึ้นในที่สุด
เพื่อให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรกินโปรตีน 25 - 30 กรัมหลังออกกำลังกาย เพราะโปรตีนจะช่วยในกระบวนการซ่อมแซมและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ในช่วงอากาศร้อนทำให้มีเหงื่อออกมาก การออกกำลังกายจึงควรเน้นกิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น การเดิน โยคะ การปั่นจักรยานเบาๆ และการยืดกล้ามเนื้อ
ดังนั้น เราควรเริ่มดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อตั้งแต่วันนี้โดยการให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ครบถ้วนจากอาหารหลัก 5 หมู่ ร่วมด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และเสริมด้วยอาหารสูตรครบถ้วนที่มี HMB และโปรตีนคุณภาพดีที่หลากหลาย HMB มีส่วนช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของมวลกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ให้คุณมีความสุขกับทุกกิจกรรมแบบไม่มีวันเกษียณ