'โรคลมชัก' รู้ไว รักษาได้ และโอกาสหายสูง
'โรคลมชัก' เกิดจากการที่เซลล์สมองปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมามากผิดปกติ ผู้ป่วยอาจมีอาการชักโดยไม่มีเหตุกระตุ้น ขณะที่ผู้ป่วยบางส่วนอาจเกิดอาการชักเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น
ลมชัก เป็นอีกหนึ่งโรคที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ขับรถ ว่ายน้ำ หรือทำภารกิจสำคัญ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็อาจก่อให้เกิดอันตราย ปัจจุบันมีการพัฒนาตัวยารักษา โรคลมชัก ที่ทันสมัย ผู้ป่วยโรคลมชักที่เข้ารับการรักษากว่า 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ จึงสามารถหายได้ด้วยการเลือกและปรับยากันชักให้เหมาะสม
นพ.ชูศักดิ์ ลิโมทัย อายุรแพทย์ระบบประสาทเฉพาะทางด้านโรคลมชัก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคลมชัก เกิดจากการที่เซลล์สมองปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมามากผิดปกติ โดยแบ่งประเภทของโรคลมชักเป็น 2 ประเภท คือ โรคลมชักที่มีจุดกำเนิดชักเฉพาะที่หรือเกิดขึ้นกับสมองบางส่วน และโรคลมชักที่กระจายไปทั่วสมอง 2 ข้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุของโรคลมชักจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เช่น ในกลุ่มเด็ก พบว่าอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสมองที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือมีการติดเชื้อในสมองและจากไข้สูง เป็นต้น, ในกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่ามีสาเหตุจากอุบัติเหตุทางสมอง เนื้องอกสมอง เป็นต้น, ในกลุ่มผู้สูงอายุ มักมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตาม พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคลมชัก มักไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด
ผู้ป่วย โรคลมชัก สามารถมีอาการชัก โดยไม่มีเหตุกระตุ้น ขณะที่ผู้ป่วยบางส่วนอาจเกิดอาการชักเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น เมื่อมีการอดนอน มีความเครียด เป็นต้น
รูปแบบอาการชัก จะแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบง่ายๆ ได้แก่
- อาการชักแบบเกร็ง กระตุก
- อาการชักแบบเหม่อลอย ผู้ป่วยอาจทำอะไรไม่รู้ตัว มีการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ เช่น มีการเคี้ยวปาก มือคลำสิ่งของหรือเสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งคนทั่วไปมักไม่ทราบว่าลักษณะนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของอาการชัก
ทั้งนี้ พบว่าหากผู้ป่วยมีอาการชักบ่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก อาจส่งผลต่อพัฒนาการที่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามช่วงอายุ ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการชักบ่อยส่งผลต่อเซลล์สมองอย่างไร แต่พบว่าในช่วงหลังจากเกิดอาการชักใหม่ๆ ภายใน 5 นาที – 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาจทำอะไรช้าลง สับสน ซึ่งจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
การตรวจวินิจฉัยโรคลมชัก แพทย์จะต้องใช้เวลาในการซักประวัติทั้งจากผู้เห็นเหตุการณ์หรือครอบครัว และตัวผู้ป่วยเอง โดยผู้ป่วยจะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการนำก่อนชัก เช่น แน่นท้อง ใจสั่น ใจหวิว เห็นแสงแปลกๆ หรือหูแว่ว ส่วนผู้เห็นเหตุการณ์จะบอกลักษณะอาการในขณะที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว ซึ่งจะนำมาวิเคราะห์ได้ว่าเกิดจากความผิดปกติจากสมองส่วนใด นอกจากนี้ ยังสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อช่วยยืนยันว่ามีคลื่นที่บ่งชี้ในการเป็นโรคลมชัก และช่วยแยกประเภทของอาการชักซึ่งมีผลต่อการเลือกใช้ยาในการรักษาอย่างเหมาะสม
โรคลมชัก เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายด้วยการควบคุมไม่ให้มีอาการชักด้วยยากันชักได้ถึง 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีการรักษาโดยทั่วไปจะเริ่มจากการใช้ยากันชักเป็นหลัก แต่ในกลุ่มผู้ป่วยลมชักที่เกิดเฉพาะที่ หากได้ยาไปแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ แพทย์อาจพิจารณาตรวจหาจุดกำเนิดชักเพื่อวางแผนผ่าตัด นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วยทั้งกลุ่มโรคลมชัก แบบเฉพาะที่ และแบบกระจายทั้งสมอง ยังสามารถใช้รักษาได้ด้วยการใช้คลื่นกระตุ้นสมองส่วนลึก หรือ เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส เพื่อควบคุมอาการชัก ในกลุ่มที่สามารถให้ความร่วมมือด้านโภชนาการได้ ยังสามารถใช้วิธีการรับประทานอาหารแบบคีโตเจนิค เพื่อช่วยลดอาการชักได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคลมชักจะเน้นไปที่การป้องกันตามสาเหตุ เช่น ในเด็กควรป้องกันไม่ให้เกิดไข้สูงบ่อยๆ ในผู้ใหญ่ควรป้องกันหรือระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบต่อสมอง และในผู้สูงอายุ ควรป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
“โดยส่วนใหญ่อาการชักสามารถหยุดเองได้ในระยะเวลา 1 – 2 นาที เพราะฉะนั้นหากพบเห็นผู้ป่วยมีอาการชัก สิ่งที่คนทั่วไปจะช่วยได้คือจับผู้ป่วยนอนตะแคง เพื่อไม่ให้เกิดการสำลัก และที่สำคัญคือห้ามใส่อะไรก็ตามเข้าไปในช่องปากของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายทั้งกับผู้ป่วยและผู้ปฐมพยาบาลเอง” นพ.ชูศักดิ์แนะ