5 วิธี ฮีลใจ จากความ ผิดหวัง ทาง 'การเมือง'
ความ 'ผิดหวัง' ทาง 'การเมือง' ไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ และจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ในช่วงที่สถานการณ์ การเมือง กำลังคุกรุ่น ระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลายคนเกิดอาการ ผิดหวัง จากสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย จนไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ และแสดงออกในสิ่งที่ผิดแปลกไปจากพฤติกรรมปกติ อาทิ ด่าทอ ก้าวร้าว เกรี้ยวกราด เป็นต้น หรือบางคนอาจเป็นมากเข้าขั้นป่วยซึมเศร้าทีเดียว
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า อาการ ผิดหวัง จาก การเมือง Political Stress Syndrome : PSS ไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ และจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้มีอาการทางกาย จิตใจ และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีลักษณะสำคัญ 3 ข้อ
- อาการทางกาย เช่น ตึงขมับหรือต้นคอ นอนไม่หลับ ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม แน่นท้อง ชาตามร่างกาย ฯลฯ
- อาการทางใจ เช่น หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย สิ้นหวัง ฟุ้งซ่าน หมกมุ่น ฯลฯ
- ปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น โต้เถียงกับผู้อื่นหรือคนในครอบครัวโดยใช้อารมณ์ อาจนำไปสู่ใช้กำลังจนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง เป็นต้น
สำหรับ 5 วิธี ฮีลใจ จากความ ผิดหวัง ทาง การเมือง สามารถทำได้ดังนี้
- หยุดเสพข่าวสารทางการเมือง แล้วกันมาเสพสิ่งบันเทิงเริงใจ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือ อาจจะหยิบหนังสือเล่มโปรดมาอ่านอีกครั้ง วันไหนที่ต้องเจอกับอะไรแย่ๆ การเสพสิ่งบันเทิงเริงใจก็ทำให้มีรอยยิ้ม เติมความสุขได้ง่ายๆ
- อยู่กับธรรมชาติ เมื่อรู้สึกเศร้า ไม่ควรขังตัวเองไว้ในบ้าน แต่พยายามออกไปพบเจอโลกภายนอก ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ท่ามกลางแสงแดดและต้นไม้ใบหญ้า เพราะแสงแดดช่วยเพิ่มวิตามินดี กระตุ้นการหลั่งสารเซโรโทนิน ในสมองทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้สารเคมีไฟโตไซด์ ที่พืชปล่อยออกมายังมีสามารถช่วยให้จิตใจสงบอีกด้วย
- ระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจออกไปกับคนที่สนิทใจ แม้บางครั้งพวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถช่วยอะไร แต่อย่างน้อยคุณก็ไม่ต้องแบกรับความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้คนเดียวอีก แต่ถ้าใครกังวลว่าการระบายออกไปจะทำให้คนฟังเครียดตามไปด้วย ลองหันมาระบายความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้น ลงบนกระดาษหรือผืนผ้าใบ วิธีนี้อาจช่วยทำให้ใจโล่งขึ้น สงบนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่านได้เหมือนกัน
- หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่กระตุ้นความเศร้า เราต้องสังเกตว่า ช่วงเวลาใดที่รู้สึกไม่สบายใจ เป็นทุกข์ เหมือนอารมณ์ถูกฉุดกระชากให้ดิ่งลงเหว เมื่อพบต้นเหตุ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าเหล่านั้น แม้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่การที่เราตระหนักถึงต้นเหตุก็จะช่วยรั้งสติและลดผลกระทบที่มีต่ออาการซึมเศร้าลงได้บ้าง
- เรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงลบ เพราะอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า หากปล่อยปละให้เติบโตขึ้น อาจจะพัฒนาไปถึงขั้นคิดร้ายต่อตัวเองได้ เราต้องรู้เท่าทันและเรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลงความคิดในเชิงลบ ก่อนที่จะลุกลามบานปลายและสายเกินแก้ เช่น
- ฝึกมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่มีอยู่ หรือเป็นอยู่
- ฝึกสติ รู้ทันความคิดของตัวเอง พิจารณาด้วยเหตุผล ไม่ด่วนสรุป
- เรียนรู้ที่จะรับฟังคำวิจารณ์ ฝึกปฏิเสธ และยืนหยัด
- จดบันทึกอารมณ์ ความรู้สึก และความคิด
- ฝึกยิ้ม
การปรับเปลี่ยนความคิดเชิงลบเป็นกระบวนการที่ไม่ได้เกิดง่าย ทุกอย่างต้องอาศัยการฝึกฝน ปรับเปลี่ยนทีละเล็กละน้อย ซึ่งอาจจะรู้สึกฝืนในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่จะส่งผลดีในระยะยาวอย่างแน่นอน