รู้จัก 'โดปามีน' สารแห่งความสุข เกี่ยวข้องอะไรกับ 'พาร์กินสัน'
รู้จัก 'โดปามีน' สารโดปามีน สารแห่งความสุข เกิดขึ้นได้อย่างไร มีหน้าที่อะไรบ้าง และเกี่ยวข้องอะไรกับ 'พาร์กินสัน'
เรียกว่าเป็นกระแสที่มาแรงมากสำหรับละครเรื่อง มาตาลดา เรียกได้ว่าเรตติ้งพุ่งต่อเนื่องทุกตอน เพราะเป็นละครฟีลกู๊ด สร้างรอยยิ้ม เหมาะกับทุกคนในครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่ฉากที่เรียกน้ำตาอย่างฉากที่อาม่าไม่สบายเพราะป่วยเป็น 'พาร์กินสัน' ซึ่งในเรื่องได้เอ่ยถึงการขาดสารแห่งความสุข นั่นก็คือ 'โดปามีน' ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยคุ้นชื่อกันมาก่อน
ครั้งนี้ คมชัดลึก จะพาไปรู้จักกับ 'โดปามีน' สารแห่งความสุข ตัวการที่สามารถทำให้เกิดโรคอย่าง 'พาร์กินสัน' ได้ แต่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร และสามารถรักษาได้อย่างไรบ้าง
โดปามีน คืออะไร?
'โดปามีน' หรือ โดพามีน (dopamine) คือ สารเคมี ในสมองที่เกิดจากกรดอะมิโนชนิดไทโรซีนและเอนไซม์ไทโรซีนไฮดร็อกซิเลสที่ทำงานควบคู่กัน ซึ่งถือเป็นสารที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแคทีโคลามีนที่ประกอบไปด้วยนอร์เอพิเนฟริน, อิพิเนฟริน และ โดปามีน นั่นเอง โดยสารที่หลั่งออกมานั้นจะถูกรับโดยโปรตีนในสมองและเส้นประสาททั่วร่างกาย
โดปามีน มีหน้าที่อะไรบ้าง?
'โดปามีน' มีหน้าที่ช่วยให้กระบวนการทำงานของสมองและการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ ช่วยควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็ก ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ช่วยในเรื่องของการรับรู้ ส่งเสริมระบบความจำ และการเรียนรู้ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยทางการแพทย์ยังได้วิจัยแล้วพบว่าสารนี้ยังมีหน้าที่ในการสร้างบุคลิกของผู้คนให้กลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีได้ เนื่องจากร่างกายของคนเราหากมี สารโดปามีน อย่างเพียงพอ จะทำให้สมองตัดเรื่องแง่ลบหรือแง่ร้ายออกไปได้อย่างอัตโนมัติ รวมไปถึงในช่วงเวลาที่คุณเกิดปัญหานั้น จะช่วยทำให้มีสมาธิในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
การหลั่งของโดปามีน
สารโดปามีน จะพบการหลั่งได้ตลอดชีวิต แต่ช่วงของการเจริญพันธุ์คือระหว่างอายุ 12-30 ปีจะพบได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัวต่างๆ อีกทั้งยังเป็นช่วงอายุที่ร่างกายมักจะมองหาคู่รักหรือเพศตรงข้ามมากขึ้น จึงทำให้สารนี้หลั่งออกมาจนถูกขนานนามมาเป็นเคมีแห่งความรักเลยก็ว่าได้ เพราะในขณะที่โดพามีนหลั่งออกมาจะทำให้คุณรู้สึกได้ถึงอารมณ์ที่พึงพอใจ มีความยินดี ความรักและความรู้สึกดีๆ จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ช่วยทำให้สมองสามารถเลือกคู่ได้อย่างถูกใจและถูกอารมณ์มากยิ่งขึ้น
จากการทดลองเกี่ยวกับหนูทดลองทำให้พบว่าหนูในกลุ่มที่มี สารโดปามีน แบบเดียวกัน มักจะให้ความรู้สึกสนใจกันเองมากเป็นพิเศษ นั่นเพราะเป็นความพึงพอใจที่เจ้าหนูได้มอบให้แก่กัน ทำให้เมื่อมามองในแง่ของมนุษย์เองนั้นมักจะมีความพึงพอใจที่แตกต่างกัน ในบางครั้งเราอาจจะชอบคนๆ หนึ่งอยู่ แต่ในช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะรู้สึกไม่ชอบขึ้นมา นั่นเป็นเพราะสมองได้รับสิ่งเร้าเข้ามาจนทำให้ประมาณของสารโดพามีนลดน้อยลงไปหรือเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลานั้นๆ นั่นเอง
ประโยชน์ของสารโดปามีน
สำหรับประโยชน์ของ สารโดปามีน ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ช่วยให้คุณกลายเป็นบุคคลที่มองโลกในแง่ดีมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อสารนี้เข้ามากระตุ้นการทำงานของสมอง จะทำให้คุณรู้สึกอารมณ์ดีและรู้สึกดีได้ง่ายๆ ต่อสิ่งรอบตัว เมื่อสารนี้หลั่งอย่างต่อเนื่องเป็นปกติ แน่นอนว่าจะส่งผลดีกับร่างกายของคุณอย่างแน่นอน โดยจะช่วยทำให้คุณกลายเป็นคนจดจำได้แม่นยำยิ่งขึ้น สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ระบบการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะระบบกล้ามเนื้อจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความกระฉับกระเฉง มีความตื่นตัวอยู่เสมอ ในขณะที่คุณออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาจะรู้สึกได้ทันทีว่าร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างใจต้องการ นั่นเป็นเพราะ สารโดปามีน ด้วยส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบสมองและระบบร่างกายทำงานควบคู่กันได้อย่างลงตัว
เมื่อร่างกายขาดสารโดปามีนจะเกิดอะไรขึ้น?
หากร่างกายขาด สารโดปามีน มากจนเกินไป จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวได้ช้าลง โดยมักจะพบเป็นจำนวนมากในกลุ่มของผู้สูงอายุหรือผู้ที่ละเลยการดูแลกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักๆ มาจากการที่เซลล์สมองไม่สามารถสร้างสาร 'โดปามีน' ได้ หรือ เซลล์สมองบางส่วนที่ทำหน้าที่สร้าง สารโดปามีน เกิดตายลง จนทำให้การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นไปได้โดยยากและผิดปกติลงในที่สุด
แต่ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายที่หลัง สารโดปามีน มากจนเกินไป อาจจะทำให้กลายเป็นคนที่ย้ำคิดย้ำทำ อารมณ์ร้อน หรือหากมีจำนวนมากผิดปกติอาจจะทำให้เกิดอาการป่วยทางจิตได้ ดังนั้น วิธีการสร้างสมดุลให้กับสารโดพามีนในร่างกายได้ดีที่สุดคือ การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ หรือธัญพืชต่างๆ เป็นต้น
'โดปามีน' ถือเป็นอีกหนึ่งสารจากระบบสมองที่มีความมหัศจรรย์และเราควรศึกษาเรียนรู้ไว้ เพื่อช่วยให้ทราบถึงวิธีการทำงานและวิธีสร้างสมดุล ซึ่งล้วนแล้วแต่จะมีผลต่อด้านระบบสมอง ระบบอารมณ์ และระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะสามารถช่วยให้ระบบสมองและกล้ามเนื้อสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด ช่วยให้คุณมีความสุขในการใช้ชีวิต เปลี่ยนมุมมองในการมองโลก และยังรวมไปถึงการมีความสุขกับคู่รักที่คุณพึงพอใจ แถมยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพากินสันอีกหนึ่งโรคที่ไม่ควรมองข้ามของผู้คนในยุคนี้อีกด้วยนั่นเอง
'พาร์กินสัน' (Parkinson's Disease) เป็นภาวะอาการในกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่ผู้ที่ป่วยจะมีอาการสั่นตามอวัยวะต่างๆ เคลื่อนไหวช้า และกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ไม่ยืดหยุ่น อย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยมีสาเหตุจากการเสื่อมของเซลล์สมอง หรือสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ถูกทำลายจนเสียหาย
อาการจาก โรคพาร์กินสัน จะเป็นลักษณะอาการที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม แม้อาการจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันกะทันหันอย่างโรคร้ายแรงอื่น แต่อาการจากโรคนี้ก็ถือว่าค่อนข้างกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว
อาการของพาร์กินสัน
อาการหลักๆ ที่มักพบในผู้ป่วย พาร์กินสัน สามารถแบ่งออกได้เป็นลักษณะดังต่อไปนี้
- อาการสั่น (Tremor) เป็นอาการสั่นที่นิ้ว มือ แขน หรือขา ขณะอยู่ในท่าพักและไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาการที่มักพบได้บ่อยคือ นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้สั่นและถูกันไปมา มือสั่นอย่างควบคุมไม่ได้
- เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) เคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ได้ช้ากว่าปกติ จนทำให้เกิดความยากลำบากและใช้เวลานานในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เดินก้าวสั้นๆ เดินลากเท้า ลุกออกจากที่นั่งลำบาก
- กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (Rigidity) เป็นอาการกล้ามเนื้อจะแข็งและเกร็งกว่าปกติ ทำให้เคลื่อนไหวอวัยวะได้อย่างลำบากและได้จำกัด หรืออาจสร้างความเจ็บปวดได้หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)
การรักษาพาร์กินสัน
ในปัจจุบัน พาร์กินสัน ยังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลจากแพทย์อาจช่วยให้อาการที่เป็นอยู่ทุเลาลง เพื่อลดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยตัวอย่างการรักษาที่แพทย์มักใช้มีดังต่อไปนี้
การป้องกันพาร์กินสัน
มีบางงานวิจัยที่ชี้ว่าสารคาเฟอีนที่พบในชา กาแฟ น้ำอัดลมบางชนิด และการออกกำลังกายด้วยการแอโรบิค อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดพาร์กินสันได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการชี้ชัดถึงสาเหตุที่แน่นอนในการเกิด พาร์กินสัน จึงยังไม่มียาหรือวิธีใดในการป้องกันภาวะนี้ได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่ควรปฏิบัติเพื่อการป้องกันก็คือการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ