รู้จัก 4 โรค รุมเร้า อดีตนายกฯ 'ทักษิณ ชินวัตร' สาเหตุ อาการ และการดูแลรักษา
ทำความรู้จัก 4 โรค ที่กำลังรุมเร้า อดีตนายกรัฐมนตรี 'ทักษิณ ชินวัตร' ในวัย 74 ปี ทำให้ต้องแยกขังในโซนพิเศษ แดนพยาบาล ที่ต้องดูแลใกล้ชิด 24 ชั่วโมง
เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้สูงอายุมักจะมีโรคต่างๆ มารุมเร้า เนื่องจากสภาพร่างกายเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในวัย 74 ปี ที่มีโรคต่างๆ มากล้ำกรายถึง 4 โรค ทำต้องแยกขังในโซนพิเศษ แดนพยาบาล ที่ต้องดูแลใกล้ชิด 24 ชั่วโมง
สำหรับ 4 โรค ประกอบด้วย
- โรคหัวใจขาดเลือด
- โรคปอดอักเสบเรื้อรัง
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท
1. โรคหัวใจขาดเลือด
สาเหตุ มักจะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อก็จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้มากกว่าผู้อื่น และมักมีความรุนแรง ของโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- เพศชาย หรือเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน โดยเพศชายมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด มากกว่าเพศหญิง 3-5 เท่า
- สูบบุหรี่
- ไขมันในเลือดสูง (โคเลสเตอรอลรวม หรือโคเลสเตอรอลแอล ดี แอล ชนิดร้าย)
- ไขมันโคเลสเตอรอล เอช ดีแอล (ชนิดดี) ต่ำ
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- อ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
- มีบุคลิกภาพเจ้าอารมณ์ โกรธ โมโหง่าย เครียดเป็นประจำ
- มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดของคนในครอบครัว
อาการ คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะออกแรง พักแล้วดีขึ้นโดยจะรู้สึกแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หรือค่อนมาทางซ้าย เจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายนอกจากแน่นหน้าอกแล้ว ยังอาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือ คอ
การดูแลรักษา
1. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่สำคัญ
2. การรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรง ได้แก่
- ยาเพื่อป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดเข้ากับผนังของหลอดเลือดแดง ซึ่งมีผลทำให้เกิดการทำลายของผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตันและอุดตันมากขึ้น
- ยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก ลดการทำงานของหัวใจ ช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น
- ยาเพื่อใช้สลายลิ่มเลือด ที่อุดกั้นหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย จะได้ประโยชน์มากถ้าใช้ได้เร็วที่สุด หลังจากที่หลอดเลือดหัวใจมีการอุดตันอย่างเฉียบพลัน
- ยาอื่นๆ ที่ใช้รักษาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ยาพวกนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นเท่านั้น
3. การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยบอลลูน เป็นวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดแดงที่โคนขาหรือข้อมือ เข้าไปจนถึงหลอดเลือดหัวใจที่ตีบและขยายหลอดเลือด โดยการทำบอลลูนที่ปลายของสายสวนหัวใจพองขึ้น เพื่อที่จะดันหลอดเลือดที่ตีบให้ขยายออกจะได้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น
4. การรักษาโดยการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจใหม่ โดยการใช้หลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำที่ขา มาต่อหลอดเลือดหัวใจ เพื่อเพิ่มทางเดินของเลือดที่จะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น
2. โรคปอดอักเสบเรื้อรัง
สาเหตุ เกิดได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่
- การติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด การติดเชื้อชนิดใดขึ้นกับ กลุ่มอายุ อาชีพ โรคประจำตัว ภาวะภูมิคุ้มกัน ประวัติการเดินทางต่างประเทศ การสูบบุหรี่ และสภาพแวดล้อม เช่น เชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV), เชื้อไข้หวัดใหญ่, เชื้อโคโรนา เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อ Streptococcus Pneumoniae, เชื้อ Haemophilus Influenzae, เชื้อ Atypical bacteria และเชื้อราซึ่งพบน้อย
- ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีที่ระเหยได้ นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด และยาที่ใช้ควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิด เป็นต้น
อาการ
- มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น ระยะเฉียบพลัน
- ไอมีเสมหะ
- หายใจเร็ว หายใจหอบ เหนื่อย
- เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ
- คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
- ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม ความรู้สึกสับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
- เด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ
- อาการจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
การดูแลรักษา
- การรักษาจำเพาะ โดยการให้ยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วและเหมาะสม โดยพิจารณาจากอายุ โรคประจำตัว ภาวะภูมิคุ้มกัน ประวัติการเดินทางต่างประเทศ และสภาพแวดล้อม และประวัติการได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อนภายใน 3 เดือน รวมถึงประวัติที่อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อดื้อยา
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส และเชื้ออื่นๆ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน และทำกายภาพบำบัดทรวงอก
- การรักษาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เกิดฝีในปอด หรือเกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่จำเป็นต้องเจาะหรือดูดออก ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต จำเป็นต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ และดูแลอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยวิกฤต
3. โรคความดันโลหิตสูง
สาเหตุ อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่
- พวกที่หาสาเหตุได้ เช่น จากโรคไตอักเสบ เส้นเลือดแดงตีบ พิษแห่งครรภ์ เป็นต้น
- พวกที่หาสาเหตุไม่พบ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนมากมักจะเป็นชนิดนี้
อาการ
- มึนงง
- ตาพร่ามัว
- ปวดศรีษะตรงท้ายทอย มักจะปวดตอนตื่นนอน
- เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก
- นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย
- บางรายเลือดกำเดาออกบ่อยๆ
- เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ไตวายเรื้อรัง
- หลอดเลือดหัวใจหนา หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
- หลอดเลือดตีบ โป่งพอง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้น้อยลง
- มีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อมเป็นสาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต
การป้องกัน
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงโดยค่าดัชนีมวงกาย (BMI) ที่เหมาะสมอยู่ที่ 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อเมตรกำลังสอง หรือรักษาระดับเส้นรอบเอวให้อยู่ในเกณฑ์ มาตรฐาน
- ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารและใยอาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตได้
- จำกัดโซเดียมในอาหารน้อยกว่า 2,000 มิลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่าเกลือแกง 1 ช้อนชา)
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อย่างน้อยวันละ 30 นาที ไม่จำเป็นต้องวิ่ง แนะนำให้ออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำหรือการเดินก็เพียงพอ
4. กระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท
สาเหตุ
- เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น รถชน หกล้ม ตกตึกทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหัก คนไข้จะนั่งไม่ได้
- ไม่ได้มาจากอุบัติเหตุจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เกิดจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติกับกลุ่มที่เกิดจากการติดเชื้อหรือเนื้องอก เราพบว่าในปัจจุบันโรคกระดูกสันหลังที่เกิดจากความเสื่อมสภาพนั้นมีคนไข้อยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มวัยทำงานอายุประมาณ 20-50 ปี อีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีอายุมากเกิน 50-70 ปีไปแล้ว ในกลุ่มวัยทำงาน การเสื่อมสภาพที่จะเกิดได้บ่อยก็คือที่ตำแหน่งหมอนรองกระดูก นั่นคือภาวะที่เรียกว่า หมอนรองกระดูกเคลื่อน ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด
อาการ
- ปวดหลัง หรือ
- ปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงสะโพกหรือลงขา หรือร่วมกับมีอาการชาหรืออ่อนแรงหรือว่าขาลีบ กระดูกสันหลังก็เหมือนกับบ้าน ถ้าเสาแข็งแรง ลมพัดไปพัดมาก็ยังมั่นคง แต่ถ้าเสาไม่แข็งแรง คนในบ้านก็จะรู้สึกไม่มั่นคงภาวะกระดูกสันหลังไม่มั่นคงก็เช่นเดียวกัน
การป้องกัน
- นั่งในท่าที่ดี ควรนั่งตัวตรง มีหมอนหรือเบาะรองระหว่างหลังเก้าอี้เพื่อรองรับส่วนบั้นเอว เท้าทั้งสองข้างแตะพื้นพอดี โดยการวางข้อศอกสองข้างบนโต๊ะจะช่วยลดอาการตึงบริเวณบ่าและคอหากต้องพิมพ์งานเป็นเวลานาน ๆ ได้
- จัดให้คอมพิวเตอร์สูงพอดีในระยะสายตา ช่วยให้สายตาของคุณมองต่ำลงมาเป็นมุม 15-20 องศา เพื่อลดอาการตึงบริเวณคอ พักการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ ผลัดนั่งตัวตรงเป็นเวลา 10-15นาที แล้วลุกขึ้นเดิน ยืดเส้นยืดสายบ้าง
- ออกกำลังกายโดยใช้ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อและท่าเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง
- หลีกเลี่ยงการก้มๆ เงยๆ
- ไม่นั่งหรือทำกิจกรรมที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ
- หลักเลี่ยงการยกของหนัก
- ระมัดระวังไม่ให้หลังได้รับการกระทบกระเทือนหรืออุบัติเหตุ