รู้จักอาการ หัวใจล้มเหลว อาการป่วยไข้ทำ ครูบาน้อย ญาณวิไชย มรณภาพ
ทำความรู้จักโรคเพื่อการรักษาสุขภาพ แาการหัวใจล้มเหลว ทำพระสงฆ์ดัง ครูบาน้อย ญาณวิไชย มรณภาพ ก่อนเผาสังขารวันนี้
จากกรณีรายงานข่าวพระครูบามหาป่าญาณวิไชย ภิกขุ สุขุมาละชาติปัญญา ศาสนะโชติกะ อรัญญวาสี หรือ ครูบาน้อยญาณวิไชย วัดถ้ำเชตวันตำบลสันทะอำเภอนาน้อยจังหวัดน่านได้ละสังขารอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเมื่อเวลา 00.48 น. วันนี้ (31ส.ค.) แล้วจะมีการประกอบพิธีถวายเพลิงสรีระสังขารตามเจตนารมณ์ในพินัยกรรมของครูบาน้อยภายในวันนี้เวลา20.09น. ที่วัดถ้ำเชตวันนั้น
ทำให้มีความสงสัยต่อโรคภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นอย่างไร รวมการสังเกตอาการ และแนวทางการรักษา สามารถทำอย่างไรได้บ้าง
ข้อมูลทางการแพทย์ ของ รพ.บำรุงราษฎร์ ได้ระบุไว้ว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ โดยอาจเกิดจากมีความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ
ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถแบ่งได้หลายชนิด แต่หากใช้การแบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute heart failure) เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการเกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการคงที่แต่กลับแย่ลงในเวลาไม่นาน
ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ( chronic heart failure) พบได้ในผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันมาก่อนหรือไม่ก็ได้ แต่ในขณะที่ทำการวินิจฉัยผู้ป่วยมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวและ/หรือมีการทำงานที่ผิดปกติไปของหัวใจคงอยู่เป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้เกิดอาการหรืออาการแสดงที่เกิดจากการที่เลือดออกจากหัวใจไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และอาการที่เกิดจากภาวะคั่งของน้ำและเกลือ อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
อาการหายใจเหนื่อย
เป็นอาการสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลว โดยอาจมีอาการเหนื่อยในขณะที่ออกแรง อาการเหนื่อย/หายใจไม่สะดวกในขณะนอนราบ บางครั้งจะมีอาการไอในขณะนอนราบด้วย หรือในขณะนอนหลับต้องตื่นขึ้นเนื่องจากมีอาการหายใจไม่สะดวกซึ่งเป็นอาการจำเพาะสำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว
อ่อนเพลีย
เกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายลดลง ทำให้ความสามารถในการทนต่อการทำกิจกรรมหรือความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของร่างกายลดลง
มีอาการบวมจากภาวะคั่งน้ำและเกลือ
เช่น ที่เท้าและขามีลักษณะบวม กดบุ๋ม มีน้ำคั่งในปอดและอวัยวะภายใน เช่น มีตับ ม้ามโต มีน้ำในช่องท้อง ทำให้มีอาการท้องบวม ท้องโตขึ้น แน่นอึดอัด
ขณะที่การสังเกตอาการหัวใจล้มเหลว จะทราบได้อย่างไรนั้น นพ. ชาติทนง ยอดวุฒิ แพทย์ชำนาญเฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์ อนุสาขา
อายุรศาสตร์โรคหัวใจ รพ.กรุงเทพ ระบุข้อมูลว่า
แนะนำให้สังเกตว่าเมื่อไรที่หายใจแล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายเกินปกติ ตอนกลางคืนนอนราบแล้วหายใจไม่ออกจนต้องลุกนั่ง ขาบวม เหล่านี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว
ในด้านการรักษาเบื้องต้นเมื่อถึงมือแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ออกก็อาจต้องให้ใส่เครื่องช่วยหายใจ และส่วนกรณีมีน้ำในปอด ต้องให้ยาขับปัสสาวะ เมื่อคนไข้พ้นวิกฤติแล้วแพทย์จะหาสาเหตุว่าเกิดจากสาเหตุหรือโรคใด ซึ่งแต่ละโรค แต่ละสาเหตุมีผลต่อความรุนแรงและใช้วิธีการรักษาแตกต่างกัน
การซักถามประวัติผู้ป่วยจึงเป็นกระบวนการสำคัญมาก เพราะสามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วว่ามีสาเหตุจากโรคชนิดใด และสามารถหาวิธีแก้ไขได้ทันท่วงที โดยแพทย์จะประเมินร่วมกับการตรวจด้วย ECG การทำ Chest X-ray รวมถึงการทำ Echo Cardiogram เป็นต้น