ไลฟ์สไตล์

รู้จัก 'โรคพาร์กินสัน' ความผิดปกติทางระบบประสาท ใน ผู้สูงอายุ

รู้จัก 'โรคพาร์กินสัน' ความผิดปกติทางระบบประสาท ใน ผู้สูงอายุ

01 ก.ย. 2566

โรคพาร์กินสัน และโรคการคั่งของน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติเป็นความผิดปกติทางระบบประสาท ที่พบได้ใน ผู้สูงอายุ และความชุกของโรคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2564 นั้นประชากรผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ และยังมีแนวโน้มที่ตัวเลขประชากรกลุ่มดังกล่าวจะขยายขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคพาร์กินสัน และโรคการคั่งของน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบได้ในผู้สูงอายุและความชุกของโรคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น วันนี้ ผศ.นพ.ปรัชญา ศรีวานิชภูมิ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมประสาทวิทยา จะพาเราไปทำความรู้จักอาการของทั้ง 2 โรค รวมถึงแนวทางการรักษา เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้ป่วย และผู้ดูแล เพื่อที่จะได้นำไปเข้าสู่กระบวนการตรวจและรักษาอาการแต่เนิ่นๆ

 

ผศ.นพ.ปรัชญา ศรีวานิชภูมิ

 

 

โรคพาร์กินสันคืออะไร?

โรคพาร์กินสัน เป็นโรคของความเสื่อมที่เกิดขึ้นในระบบประสาท โดยเกิดขึ้นกับเซลล์ประสาทที่ผลิตสารสื่อประสาทโดปามีน ที่อยู่บริเวณก้านสมองส่วนบน ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักจะแสดงออกด้วยอาการของการเคลื่อนไหวผิดปกติเป็นอาการหลัก ซึ่งจะต่างกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ที่ผู้ป่วยมักจะแสดงออกด้วยอาการความจำหลงลืมเป็นอาการหลักปัจจุบันยังไม่พบปัจจัยหลักปัจจัยเดี่ยวที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า การมีประวัติสัมผัสสารเคมีในภาคอุตสาหกรรม หรือ สารเคมีในภาคเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช ประวัติการใช้สารเสพติด เช่น เฮโรอีน หรือ แอมเฟตามีน การถูกกระทบกระแทกบริเวณศีรษะซ้ำเป็นเวลานาน หรือการมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็น โรคพาร์กินสัน ในหลายๆ รุ่น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคพาร์กินสันได้ ความชุกของโรคพาร์กินสันพบได้ประมาณร้อยละ 1 ในกลุ่ม ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และความชุกจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 4 ในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป

 

 

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการและอาการแสดงอย่างไร?

อาการของ โรคพาร์กินสัน นั้นแบ่งออกเป็น

 

  • อาการความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว
  • อาการความผิดปกติที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

 

อาการความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว จะประกอบไปด้วย 4 อาการหลักๆ ได้แก่

 

  • อาการสั่น สามารถเป็นที่มือ, ขา หรือคาง และมักจะเกิดขึ้นในขณะพักไม่ได้ใช้งานแขนขาด้านนั้นๆ
  • อาการกล้ามเนื้อฝืดเกร็ง โดยทั่วไปมักจะถูกตรวจพบโดยแพทย์ พบได้ที่บริเวณแขน ขา คอ หรือ ลำตัว
  • อาการเคลื่อนไหวช้า ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวที่ช้าและความกว้างของการเคลื่อนไหวจะค่อยๆ ลดลงเมื่อทำการเคลื่อนไหวนั้นซ้ำๆ เช่น การกำแบมือทำได้ช้าและเมื่อทำซ้ำๆ พบว่าจะแบมือได้กว้างน้อยลงกว่าเดิมเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะมาพบแพทย์ด้วยว่าขณะเดินแกว่งแขนได้ลดลงอาการสั่น, กล้ามเนื้อฝืดเกร็ง และการเคลื่อนไหวช้านั้น ในช่วงแรกของโรคอาการดังกล่าวมักจะแสดงออกที่ร่างกายข้างใดข้างหนึ่งก่อน จากนั้นเมื่อการดำเนินโรคเป็นมากขึ้น อาการดังกล่าวจะกระจายข้ามไปยังร่างกายข้างตรงข้าม แต่จะยังคงมีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากันโดยข้างที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาการมักจะยังคงมีความรุนแรงที่มากกว่าข้างที่เป็นตามมาทีหลัง
  • การทรงตัวที่ไม่มั่นคง  ผู้ป่วยจะล้มง่ายกว่าปกติและมักพบว่าลำตัวและศีรษะจะค้อมไปด้านหน้านอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะแสดงอาการอื่นๆ ดังต่อไปนี้ เช่นเขียนหนังสือตัวเล็กลง, เดินเท้าชิดก้าวสั้นๆ และซอยเท้าถี่ๆ, เดินศีรษะพุ่งไปด้านหน้าสีหน้านิ่งเฉยไม่แสดงอารมณ์ หรือพูดรัวๆ และเสียงเบา เป็นต้น 

 

อาการความผิดปกติที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหว หรือ ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแล้วก็ได้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มอาการใหญ่ ได้แก่

 

  • ปัญหาด้านการนอน ได้แก่ นอนกรน, นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน, ง่วงนอนตอนกลางวัน หรือนอนละเมอออกเสียงหรือท่าทาง เช่น ชกต่อย เตะถีบ ในช่วงที่ฝัน ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
  • ปัญหาด้านระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ปัสสาวะลำบาก ท้องผูก อวัยวะเพศไม่แข็งตัวในผู้ชาย มีอาการหน้ามืดหรือเป็นลมเนื่องจากความดันต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากท่านอนเป็นท่านั่ง หรือ ยืน เป็นต้น
  • ปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม และความจำ ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของโรค ส่วนความจำหลงลืม หรือ ความบกพร่องในการคิดการตัดสินใจนั้นมักจะพบในช่วงท้ายๆ ของโรค เป็นต้น
  • ปัญหาเรื่องการได้กลิ่นที่ลดลง หรือ ไม่ได้กลิ่น ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
  • ปัญหาเรื่องอาการปวด ชา หรือ เมื่อยล้า กล้ามเนื้อแขนขา ซึ่งอาจจะเกิดได้ทั้งช่วงที่ยารักษาอาการโรคพาร์กินสันหมดฤทธิ์ หรือ ช่วงยาออกฤทธิ์

 

แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันทำได้อย่างไร?  

เนื่องจาก โรคพาร์กินสัน เป็นโรคของความเสื่อมของระบบประสาท ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดและไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด การรักษาที่มีในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นไปที่การช่วยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่คล่องมากขึ้น โดยการรักษาสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่

 

  • การรักษาด้วยยา ยารักษาอาการ โรคพาร์กินสัน ทุกชนิดมีผลในการควบคุมอาการกล้ามเนื้อฝืดเกร็งและเคลื่อนไหวช้าได้ดี แต่ผลในการควบคุมอาการสั่นและการทรงตัวที่ไม่มั่นคง นั้นไม่แน่นอน ยารักษาโรคพาร์กินสันที่มีในประเทศไทย ได้แก่ ยากลุ่มลีโวโดปา, ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของตัวรับโดปามีนในสมองโดยตรง, ยาป้องกันการทำลายสารโดปามีนในสมอง และยายับยั้งการทำลายยาลีโวโดปา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้คู่กับยาลีโวโดปา เป็นต้น โดยเป้าหมายในการรักษาคือ  ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

       ***เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาไปเป็นเวลาประมาณ 3-5 ปีนั้น ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการเคลื่อนไหวโดย ชนิดที่พบได้บ่อยคือ อาการยุกยิก ในช่วงที่ยากำลังออกฤทธิ์ และ ยาหมดฤทธิ์เร็วขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น***  

  • การรักษาด้วยการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาไม่สามารถที่จะควบคุมอาการของโรคได้หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการเคลื่อนไหวหลังได้รับการรักษาด้วยยานั้น การผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นในสมองส่วนลึก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ให้ผลที่ดีในการควบคุมอาการของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามการผ่าตัดนั้นไม่ใช่วิธีการรักษาโรคให้หายขาด และไม่สามารถทำในผู้ป่วยได้ทุกราย
  • การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ควรทำในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทุกรายและทุกระยะ การออกกำลังกายที่เหมาะสมได้แก่ การยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายที่เป็นจังหวะ เช่น การเต้นรำในจังหวะแทงโก้ หรือ การรำไทเก๊กหรือจี้กง ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในเรื่องการเดินและการทรงตัวแก่ผู้ป่วยได้