โรคงูสวัด…ระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย
โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสที่หลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายรอวันที่จะปะทุออกมาเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะผื่นผิวหนัง แต่ยังก่อให้เกิดมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสที่หลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายรอวันที่จะปะทุออกมาเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงโรคเฉพาะผื่นผิวหนัง แต่ส่งผลต่อระบบประสาท ที่อาจทำให้มีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทยาวนานหลายปี รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จากผลการศึกษาพบว่า วัย 50+ มากกว่า 90% มีความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด และมีอาการรุนแรงและนานกว่าคนอายุน้อย
ในงานประชุมวิชาการ "THE TIME IS NOW: SHINGLES PREVENTION" จัดโดยบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK พญ. บุษกร มหรรฆานุเคราะห์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ GSK กล่าวว่า "GSK ในฐานะบริษัท Biopharma ซึ่งมุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความสามารถของบุคลากร มาขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถก้าวนำการป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้จัดเพื่อสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์ป้องกันโรคงูสวัด โรคอันตรายที่วัย 50 ปีขึ้นไปต้องให้ความสำคัญ เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรค บางรายอาจมีอาการปวดปลายประสาทแสบร้อนเป็นเวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งโรคงูสวัดเป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกัน ผู้ใหญ่วัย 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ"
โรคงูสวัดคือ โรคที่เกิดจากไวรัส VZV (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยมากกว่า 90% ของผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและเคยได้รับเชื้อ VZV หรือเคยเป็นโรคอีสุกอีใส จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด
เนื่องจากหลังจากเกิดโรคอีสุกอีใสและอาการของโรคหายดีแล้ว เชื้อไวรัส VZV จะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันตกลง เชื้อไวรัสดังกล่าวจะกลับมาก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัด โดยแพร่กระจายตามเส้นประสาทรับความรู้สึก ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทร่วมด้วย จะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง มีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส มักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นเเถวยาวตามแนวเส้นประสาท ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด หลังจากผื่นงูสวัดหายแล้วยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดแบบเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทง อาจเป็นตลอดเวลาหรือเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการปวดเจ็บแบบแปร๊บๆ ตามแนวเส้นประสาทหลังจากที่ผื่นหรือตุ่มน้ำของงูสวัดหายไปแล้ว
โรคงูสวัด ไม่ได้มีเฉพาะผื่นผิวหนัง แต่ยังก่อให้เกิดมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป บางรายอาจปวดได้นานหลายปี
พบว่า 5-30% ของผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด ยังคงมีอาการปวดเส้นประสาทนานเกิน 3 เดือน แม้ว่าผื่นงูสวัดจะหายแล้ว และผู้สูงอายุจะมีอาการที่รุนแรงและนานกว่าคนอายุน้อย และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ขยับตัวลำบาก ยกของหนักไม่ได้ อวัยวะบริเวณนั้นไม่มีแรง และขยับหรือเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้นได้น้อยลง ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่พบได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา และภาวะแทรกซ้อนทางหู โรคหลอดเลือดสมอง โรครัมเซย์ฮันท์ซินโดรม เป็นต้น ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เมื่อเป็นโรคงูสวัดอาจเป็นรุนแรงและแพร่กระจายได้ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่พบน้อย เช่น สมองและปอดอักเสบ
ศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า "โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใสที่เป็นในตอนเด็ก เมื่อหายแล้วไวรัสจะหลบอยู่ในปมประสาทของเรา วันดีคืนร้าย เชื้อตัวนี้จะโผล่ตามเส้นประสาท ทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำใสตามเส้นประสาทเป็นทางยาว มีอาการเป็นผื่น 2-3 อาทิตย์ และอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนได้ คนกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการที่จะเป็นโรคงูสวัด อันดับหนึ่ง คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงชัดเจน ยิ่งอายุสูงขึ้นก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น เป็นภาวะผู้สูงอายุ ซึ่งจะเกิดภาวะนี้ในไทยมากขึ้นในอนาคต อันดับสอง คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำลง การที่ภูมิคุ้มกันต่ำลงมีหลายสาเหตุ เช่น ผู้ที่ต้องได้รับยากดภูมิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มนี้จะเห็นได้ว่าเป็นโรคงูสวัดตั้งแต่อายุน้อย 10 - 30 ปีก็เป็น"
รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า "สิ่งที่น่ากลัวของโรคงูสวัดในผู้สูงอายุ คือ ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะปวดเรื้อรังยาวเป็นเดือนๆ ปวดรุนแรงมาก แม้กินยาแก้ปวดมักจะไม่ค่อยหาย นอกจากนั้น ในบางกรณีอาจพัฒนากลายเป็น Stroke เส้นเลือดในสมองอุดตันหรือแตกได้ เพราะฉะนั้นที่เราเคยรู้ว่า โรคงูสวัดเป็นแค่ผิวหนัง แต่ความจริงมันมีมากกว่านั้น มีการศึกษาพบว่า โรคงูสวัดจะเกิดเมื่ออายุมากขึ้น 50 ปีขึ้น อายุยิ่งมากเท่าไร มีโอกาสเป็นสูงขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนที่มีอายุเกิน 50 ปี ก็เหมือนมีระเบิดเวลาไปซ่อน รอวันที่จะปะทุออกมาเป็นงูสวัด ถามว่า จะปะทุเมื่อไร เมื่อร่างกายอ่อนแอ คนที่อายุเพิ่มขึ้น ร่างกายก็จะอ่อนแอลง"
ในการป้องกันโรคงูสวัด ศ.พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า "ในการป้องกันโรคงูสวัด 1. เราทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะการมีภูมิคุ้มกันที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด 2. ปัจจุบันมีวัคซีนแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรคงูสวัด เพราะว่า นอกจากการที่เราจะต้องทำร่างกายให้แข็งแรง แต่เราก็อาจจะมีความเสี่ยงที่เป็นโรคงูสวัด วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง จึงเป็นเครื่องมือที่ดีอันนึงที่จะสามารถป้องกันโรคงูสวัดได้ สำหรับคนที่ควรได้รับวัคซีนงูสวัด กลุ่มแรก คือผู้ใหญ่ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการจะเป็นงูสวัดที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง”
ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงไม่ควรประมาทและเริ่มป้องกันโรคงูสวัด โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และรับการฉีดวัคซีนป้องกัน