รู้ทัน 'ไข้หวัดใหญ่' หลังกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง ช่วงฤดูฝน
ช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่ 'โรคไข้หวัดใหญ่' สายพันธุ์ เอ และบี ระบาดหนัก จะเห็นได้จากคนรอบๆ ตัว ที่ช่วงนี้เป็น 'ไข้หวัดใหญ่' กันเยอะทีเดียว
ฤดูฝนมาพร้อมๆ กับการระบาดของทั้ง ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ เอ และบี ซึ่งกำลังระบาดหนักในช่วงนี้ ซึ่งวันนี้ พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช จะมาให้ความรู้ถึงอาการของ โรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับนำไปเฝ้าระวัง สังเกตตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย และการรักษาอย่างเหมาะสม บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันอย่างเหมาะสมต่อไป
พญ.พวงรัตน์ อธิบายว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีไข้ ไอ น้ำมูก คัดจมูก จาม เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย โดยอาการคล้ายกับไข้หวัด แต่ ไข้หวัดใหญ่ มักจะรุนแรงกว่าและหายช้ากว่า บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ จนทำให้มีอาการหอบเหนื่อยได้
การแพร่กระจายของเชื้อ
ทางการหายใจ โดยการรับเชื้อที่ปนเปื้อนที่อยู่ในอากาศ จากการ ไอ จาม หรือพูดของผู้ที่ป่วยโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่นหรือพื้นที่ปิด เช่น โรงเรียน ออฟฟิต การสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย จากมือที่สัมผัส แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก
บุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อและการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- เด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่อยู่ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน หัวใจ ปอด เส้นเลือดสมองตีบ โรคไตเรื้อรัง
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์
แนะนำฉีดวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ เนื่องจากสามารถครอบคลุมเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์บี ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์มีประโยชน์อย่างไร?
- ลดติด : ป้องกันการติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ ครอบคลุมสายพันธุ์มากขึ้น
- ลดตังค์ : ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดการขาดงานหรือขาดเรียน
- ลดตาย : ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน และอัตราการเสียชีวิต
ซึ่งเชื้อ “ไข้หวัดใหญ่” ที่ระบาดในแต่ละปีอาจเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงแนะนำวิธีในการป้องกัน ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กับเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และผู้ใหญ่ทุกปี โดยปี 2566 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใหม่ เพื่อคลอบคลุมเชื้อ an A/Victoria/4897/2022 (H1N1) pdm09-like virus หรือ an A/Wisconsin/67/2022 (H1N1) pdm09-like ที่คิดว่าจะระบาดในปีนี้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปี โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่