ไลฟ์สไตล์

7 ตุลาคม 'วันมะเร็งเต้านมโลก' ภัยร้ายในผู้หญิง รู้เร็ว รักษาได้

7 ตุลาคม 'วันมะเร็งเต้านมโลก' ภัยร้ายในผู้หญิง รู้เร็ว รักษาได้

06 ต.ค. 2566

7 ตุลาคม 'วันมะเร็งเต้านมโลก' ภัยร้ายที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง โดยตัวเลขของผู้หญิงที่ตรวจพบเป็น 'มะเร็งเต้านม' ทั่วโลกมีประมาณ 2.2 ล้านรายต่อปี และเสียชีวิตราว 680,000 คนต่อปี

มะเร็งเต้านม เป็น มะเร็ง ที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มจากทั่วโลกหรือในประเทศไทยเอง โดยตัวเลขของผู้หญิงที่ตรวจพบเป็นมะเร็งเต้านมทั่วโลกมีประมาณ 2.2 ล้านรายต่อปี และเสียชีวิตราว 680,000 คนต่อปี  สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกรมการแพทย์ในปี 2564 พบว่ามีหญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมประมาณ 17,043 คนต่อปี หรือคิดเป็น 47 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คนต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูง เพิ่มอัตราการรอดชีวิตและคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย รวมถึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้

 

พญ.วีรวรรณ ฉัตรตรัสตรัย

 

 

เนื่องใน วันมะเร็งเต้านมโลก 7 ตุลาคมนี้ พญ.วีรวรรณ ฉัตรตรัสตรัย รังสีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยขั้นสูงด้านเต้านมและรังสีร่วมรักษาของเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

 

  • ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามอายุ, มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว, มีญาติสายตรงที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่, การมีประจำเดือนเร็วและหมดประจำเดือนช้า, เคยมีประวัติการฉายแสงบริเวณหน้าอกมาก่อน, และการมีภาวะเนื้อเต้านมหนาแน่น ซึ่งจะทราบได้โดยการทำแมมโมแกรม
  • ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน, การดื่มแอลกอฮอล์, การใช้ยาฮอร์โมนต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการออกกำลังกาย

 

 

ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม ด้วยการทำแมมโมแกรมควบคู่กับการทำอัลตราซาวนด์เต้านม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติทางพันธุกรรมในครอบครัว หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านเต้านมเพื่อเข้ารับการตรวจก่อนกลุ่มผู้หญิงทั่วไปในช่วงอายุที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ขณะเดียวกัน ในกลุ่มที่มาด้วยอาการผิดปกติของเต้านม เช่น มีการคลำได้ก้อน, มีน้ำไหลออกจากหัวนม, มีลักษณะของเต้านมและผิวหนังที่ผิดไปจากปกติ (ผิวหนังบุ๋มตัว คล้ายเปลือกส้ม หรือหัวนมบุ๋ม), เคยเจาะพบชิ้นเนื้อประเภทความเสี่ยงสูงมาก่อน, และเคยมีประวัติ มะเร็ง เต้านมมาก่อน ควรได้รับการตรวจด้วยแมมโมแกรม และ/หรือ อัลตราซาวนด์ทุกราย

 

7 ตุลาคม \'วันมะเร็งเต้านมโลก\' ภัยร้ายในผู้หญิง รู้เร็ว รักษาได้

 

สำหรับการทำแมมโมแกรมเป็นการตรวจภาพเต้านมโดยการใช้ภาพถ่ายทางรังสี โดยเครื่องตรวจจะปล่อยรังสีในระดับต่ำ ปริมาณรังสีเมื่อเทียบกับการตรวจเอ็กซเรย์ปอดพบว่าสูงกว่าเพียงเล็กน้อย หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของปริมาณรังสีตามธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ดังนั้นการตรวจเต้านมโดยการทำแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้งจึงถือว่ามีความปลอดภัย และช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

 

ส่วนการทำอัลตราซาวนด์ จะทำให้เห็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมได้ หากพบว่ามีก้อนเนื้อจะสามารถบอกขนาดและขอบเขตของก้อนเนื้อได้ว่าเรียบร้อยดี หรือค่อนไปทางมะเร็ง ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยได้ละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น 

 

“การตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ประจำปีไม่ใช่วิธีการป้องกัน มะเร็งเต้านม แต่ช่วยในการคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในทางในการเจาะตรวจชิ้นเนื้อในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติจากภาพวินิจฉัย ทำให้สามารถตรวจพบรอยโรคได้ในขนาดเล็กขณะที่ยังไม่มีอาการผิดปกติ และสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เพิ่มอัตราการรอดชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยได้” พญ.วีรวรรณ กล่าว

 

มะเร็งเต้านม ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัว การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวน์จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคนที่มีข้อบ่งชี้ เพราะมะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาหายขาดได้