4 วิธีรักษา 5 ท่าบริหาร อาการ ่ไหล่ติด' ใครปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น รีบศึกษาด่วน
ปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น อาจเกิดจากไหล่ติด หรือเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เป็นอีกหนึ่งอาการที่สร้างความเจ็บปวด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งอาการนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน
ปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น อาจเกิดจาก ไหล่ติด หรือเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เป็นอีกหนึ่งอาการที่สร้างความเจ็บปวด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งอาการนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน วันนี้ นพ.สิริศักดิ์ บูรณวัฒนาโชค แพทย์ผู้ชำนาญการศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลรามคำแหง จะมาอธิบายของอาการ ไหล่ติด และวิธีรักษาให้ฟังกันค่ะ
ข้อไหล่ติดมีอาการอย่างไร
ข้อไหล่ติดจะทำให้เกิดอาการปวด ปวดเวลากลางคืน ปวดไหล่ทางด้านหน้า หรือว่านอนตะแคงแล้วปวด โดยได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่1 จะปวดไหล่ตอนกลางคืน ซึ่งหากมีอาการ 6-9 เดือน แสดงว่ามีข้อไหล่ติดแล้ว
- ระยะที่ 2 ข้อไหล่ติดจะส่งผลให้แขน ข้อไหล่ เริ่มขยับได้น้อยลงเรื่อยๆ จนอาจติดได้ทุกทาง ระยะนี้มีเวลาเป็นได้ถึง 1 ปี
- ระยะที่ 3 ระยะที่ข้อไหล่เริ่มคลายตัวเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะขยับข้อไหล่ได้ดีขึ้น บางคนอาจใช้เวลานานถึง 2 ปี
จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดไหล่เกิดจากโรค ไหล่ติด
สิ่งสำคัญคือก่อนจะหาสาเหตุของโรคต้องดูด้วยว่ามีโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด มีหินปูนในข้อไหล่ หรือมีกระดูกยื่นในข้อไหล่ จะต้องมาพบแพทย์ เพราะอาจต้องตรวจด้วยการเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูสภาวะเอ็นข้อไหล่ร่วมด้วย
ข้อไหล่ติด รักษาอย่างไร
- กินยา อาจจะเป็นยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ
- ทำกายภาพบำบัด
- ฉีดยาเสตียรอยด์เข้าข้อไหล่ ซึ่งการฉีดยานี้คนไข้หลายคนมักจะกังวล แต่จริงๆ แล้วค่อนข้างปลอดภัยและมีผลยอมรับชัดเจนว่าลดอาการปวด อาการข้อไหล่ติดชัดเจน
- ผ่าตัด โดยเป็นการผ่าตัดส่องกล้อง เจ็บน้อย แผลเล็กหายค่อนข้างไว หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับมาขยับข้อไหล่ได้ดี
ข้อไหล่ติด ต้องส่องกล้องผ่าตัดทุกรายหรือไม่
ส่วนใหญ่แล้วโรคข้อ ไหล่ติด สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้วิธีผ่าตัด เพียงแต่กินยา ทำกายภาพบำบัด ฉีดยา มีคนไข้เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องผ่าตัด กลุ่มแรกคือ มีโรคอื่นร่วมด้วยอย่างเช่น มีเอ็นข้อไหล่ฉีก กลุ่มนี้ต้องผ่าตัดแน่นอน เพราะว่าจะต้องผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปดูเอ็นข้อไหล่ หรือว่าผู้ป่วยที่มีหินปูนในข้อไหล่ก้อนใหญ่ ก็ต้องส่องกล้องไปเอาหินปูนออกมา คนที่มีกระดูกยื่นหรือกระดูกงอกในข้อไหล่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องส่องกล้องเข้าไปกรอกระดูกในเอ็นข้อไหล่ แต่หากเป็น โรคข้อไหล่ติด อย่างเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะไม่รักษาด้วยการผ่าตัดก่อน แต่ถ้า 6 เดือนแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องเข้ารับการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่
เทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ แพทย์จะนำกล้องเข้าทางด้านหลังข้อไหล่ 1 รู และผ่าตัดเจาะอีก 1 รูทางด้านหน้า เพื่อใส่อุปกรณ์เข้าไปตัดเนื้อเยื่อหุ้มที่มันห่อตัวออก ซึ่งการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องข้อไหล่มีข้อดีคือทำให้แพทย์เห็นพยาธิสภาพภายในข้อได้ทั่วถึง และทำการด้วยขนาดของกล้องเพียง 3 มิลลิเมตร ทำให้แผลมีขนาดเล็ก หายเร็วและเกิดผลแทรกซ้อนน้อย นอนพักในรพ. 1-2 วันหลังการรักษามีอาการเจ็บปวดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบปกติ ทำให้เข้ารับการทำกายภาพบำบัดได้เร็วขึ้น ส่งผลให้กลับมาใช้งานข้อไหล่ได้อย่างรวดเร็วขึ้นมาก
นอกจากนี้ยังมี 5 ท่าบริหาร หากมีอาการไหล่ติด สามารถทำได้เองที่บ้านมาแนะนำ
- ยืนหันหน้าเข้าหาผนังห้อง ยกแขนที่หัวไหล่เจ็บไปข้างหน้า เหยียดข้อศอกให้ตรง (ใช้มือข้างที่ดีควบคุม) ข้อและนิ้วมือตรง เดินเข้าหาผนังห้องให้ปลายนิ้วแตะฝาผนัง พยายามเลื่อนปลายนิ้วให้สูงขึ้นด้วยการเดินเข้าหาผนังห้องจนรู้สึกตึงและเจ็บหน่อยๆ จึงก้าวถอยหลังออกมา แล้วเดินหน้าเข้าไปใหม่ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- นั่งลงบนเก้าอี้ เอามือทั้งสองข้างประสานกันขึ้นเหนือศีรษะ เหยียดข้อศอกให้ตรง แล้วเอาแขนทั้งสองข้างแนบหูหลังจากนั้นงอข้อศอกให้มือที่ประสานกันวางที่ท้ายทอย แบะศอกออกให้เต็มที่ นับ 1 ถึง 5 แล้วเหยียดข้อศอกตรงมือประสานเหนือศีรษะ แล้วเอาแขนทั้งสองข้างแนบหู ทำซ้ำแบบนี้ประมาน 10 ครั้ง
- ยืนหรือนั่ง เอาแขนข้างที่เจ็บเหยียดตรงอยู่ระดับไหล่ งอข้อศอกให้มาแตะไหล่ข้างที่ดีและใช้มือข้างที่ดีดึงข้างหลัง ข้อศอกข้างที่เจ็บให้มือข้างที่เจ็บแตะด้านหลังของหัวไหล่ข้างที่ดี ท่านี้จะคล้ายกับล็อคคอตัวเอง (ทำจำนวนเท่าที่ทำได้)
- ยืนหันหน้าเข้าหามุมห้องให้ห่างพอสมควร แขนกางระดับไหล่ ให้ศอกงอ 90 องศา ใช้ฝ่ามือวางบนฝาหนังทั้งสองข้างของมุมห้อง ก้าวขาข้างที่ไหล่เจ็บไปข้างหน้า แล้วแอ่นอกเข้าหามุมห้อง ควบคุมให้หัวไหล่ข้างเจ็บยืดจนตึงและเจ็บหน่อยๆ นับ 1 ถึง 5 แล้วถอยส่วนหน้าอกกลับและแอ่นอกเข้าไปใหม่ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- นั่งหรือยืนห้อยแขนไว้ข้างลำตัว เหยียดข้อศอกให้ตรง ยักไหล่ขึ้น 2 ข้าง แล้วแบะไหล่ไปข้างหลังและปล่อยลงข้างหลัง ทำซ้ำแบบนี้ประมาน 10 ครั้ง
หมั่นทำซ้ำบ่อยๆ และพยายามหลักเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการข้อไหล่ติด เพื่อชีวิตที่ไม่ต้องทนกับอาการปวดและทรมาน
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากโรงพยาบาลเปาโล