ไลฟ์สไตล์

'โรคงูสวัด' ภัยเงียบที่ซ่อนในตัวเรา..

'โรคงูสวัด' ภัยเงียบที่ซ่อนในตัวเรา..

01 พ.ย. 2566

โรคงูสวัด ภัยเงียบที่ซ่อนในตัวเรา เกิดจากเชื้อไวรัสที่หลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายรอวันที่จะปะทุออกมาเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

วันนี้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ด้วยประชากรอายุ 60  ปีขึ้นไป  คิดเป็นจำนวน 20% ของประชากรทั้งหมด และในอีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มจะแตะระดับ 28% เรียกว่าเป็นสังคมสูงวัยสุดยอด (hyper-aged society) เราจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้สูงวัยและป้องกันภาวะเปราะบางตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่อเข้าสู่อายุ 50  ขึ้นไป  ภูมิคุ้มกันร่างกายจะเริ่มถดถอยลง และมีความเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งภัยเงียบของโรคอีสุกอีใส ที่เคยเป็นในอดีตสามารถย้อนกลับมาทำร้ายผู้ใหญ่ในบ้านได้อีกครั้งในรูปของโรคงูสวัด 
 

รศ. นพ.วินัย รัตนสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า "โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัส VZV (Varicella Zoster Virus) ที่เรารู้จักกันดีคือ โรคอีสุกอีใส ที่มักเป็นช่วงวัยเด็ก เมื่อติดเชื้อครั้งแรกจะเป็นตุ่มใสทั้งตัว เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อนี้จะยังหลบอยู่ในปมประสาทไม่แสดงอาการ เพราะตอนเรายังแข็งแรงดีในช่วงวัย 30-40 ก็จะยังมีภูมิต้านทานอยู่ แต่เมื่ออายุมากขึ้น 50 ปีขึ้นไป ภูมิต้านทานลดลง จะเสียการควบคุมเชื้อที่หลบซ่อนอยู่ เชื้อก็จะแสดงออกมาตามเส้นประสาท และเกิดเป็นโรคงูสวัด"


อาการเริ่มแรก งูสวัดจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใสบนผิวหนังเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท ลักษณะคล้ายงู จึงเรียกว่างูสวัด โดยตุ่มน้ำจะขึ้น 3-5 วัน จนเต็มที่ อีก 10-15 วันตุ่มจะแห้งหายไป อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพร่างกายและภูมิต้านทานของผู้สูงวัย อาจมีโอกาสของภาวะแทรกซ้อน และใช้เวลาในการรักษาอาการหรือฟื้นตัวนานกว่า

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคงูสวัด
1. โรคปวดเส้นประสาท งูสวัดเป็นโรคที่แสดงอาการทางผิวหนังโดยส่วนมาก เมื่อตุ่มเเห้งหายไป ก็จะทิ้งความเจ็บปวดไว้บริเวณเส้นประสาท อาจทำให้ปวดยาวต่อไปอีกเป็นเดือนหรือร่วมปี


2. ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง  เช่นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังกลายเป็นแผลเป็น แต่กับคนกลุ่มน้อยอาจเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า ลามไปถึงดวงตา ซึ่งแผลที่กระจกตามีโอกาสกระทบกับจอประสาทตาทำให้สูญเสียการมองเห็นและตาบอดได้ หรือทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือหลอดเลือดหัวใจ


3.ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรงมาก ในบางกรณีถึงขั้นทำให้เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อสมองตาย  เป็นอัมพาตครึ่งซีก  ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก  

 


"เนื่องจากเชื้องูสวัดที่เราได้รับครั้งแรกคือ เชื้ออีสุกอีใสหลบอยู่ในปมประสาท เมื่อภูมิคุ้มกันลดต่ำหลังวัย 50 ก็เกิดเป็นความเสี่ยงต่อโรคงูสวัด ในกรณีที่ภูมิต้านทานลดลงจากการกินยาหรือมีโรคที่ลดภูมิต้านทานของร่างกาย จึงควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และการพักผ่อนก็จำเป็น เพราะงูสวัดเกิดกับคนที่อายุน้อยได้เช่นกันหากพักผ่อนไม่เพียงพอ เจ้าเชื้องูสวัดก็จะสามารถจู่โจมเราได้ สำหรับการรักษา ปัจจุบันมียาที่ทำให้ตุ่มน้ำลดลงได้ แต่ปริมาณการใช้ยาต่างจากโรคอีสุกอีใสแม้จะเป็นเชื้อตัวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เเม้รักษาตุ่มได้แต่ก็จะทิ้งอาการอักเสบเอาไว้ ทำให้เจ็บตามเส้นประสาท การป้องกันด้วยวัคซีนจึงจะช่วยป้องกันผู้สูงวัยจากงูสวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ" รศ. นพ.วินัย กล่าวทิ้งท้าย