แพทย์เตือน อย่าชะล่าใจ 'กระดูกสันหลังเคลื่อน' อายุน้อย ก็เป็นได้
แพทย์เฉพาะทางเตือน โรค 'กระดูกสันหลังเคลื่อน' คน 'อายุน้อย' ก็เป็นได้ แนะหากรักษาเร็วถูกวิธีไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
“กระดูกสันหลังเคลื่อน” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ และในกลุ่มคน อายุน้อย โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อย มักมีสาเหตุมาจากการแตกหักของชิ้นส่วน กระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของชิ้นกระดูกสันหลังตั้งแต่ในวัยเด็ก หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุ ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ มักพบภาวะของกระดูกสันหลังเคลื่อนที่เกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูกสันหลัง ทั้งในบริเวณหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังเกิดความไม่มั่นคง และส่งผลให้เกิดการเคลื่อนของชิ้นกระดูกสันหลังตามมาในที่สุด
นพ.เมธี ภัคเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า โรค กระดูกสันหลังเคลื่อน ทับเส้นประสาท หรือใครหลายคนมักเรียกว่า “กระดูกทับเส้น” เกิดจากข้อ กระดูกสันหลัง ข้อใดข้อหนึ่งเคลื่อนออกจากแนวกระดูกสันหลังไปทางด้านหน้า เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความยืดหยุ่นของหมอนรองกระดูกเริ่มลดน้อยลง ส่งผลให้เสี่ยงต่อการฉีกขาดและเคลื่อนออกมาทับเส้นประสาทได้ง่ายขึ้น และมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณหลังส่วนล่างระดับ L4-L5 มากที่สุด และส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ในขณะที่ผู้ป่วย อายุน้อย บางครั้งจะพบว่าเกิดจากพฤติกรรม เช่น ก้มหรือแอ่นหลังบ่อยๆ ซ้ำไปมา ทำให้กระดูกขาดและเคลื่อนออกจากแนวกระดูกสันหลัง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มคน อายุน้อย ที่มีภาวะของ กระดูกสันหลังเคลื่อน นพ.เมธี บอกว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องรับการผ่าตัดแบบยึดนอตเพราะอาจมีผลเสียในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยที่อายุน้อยยังต้องใช้งานหลังอีกมาก หากรักษาด้วยวิธีการยึดนอตไม่ดี ก็อาจจะทำให้นอตหักหรือเหล็กงอได้ สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้ที่มีภาวะของกระดูกสันหลังเคลื่อนร่วมด้วย วิธีการรักษาคือการปรับพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการก้ม-แอ่นตัว ยกของหนัก หรือ ฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพื่อให้กล้ามเนื้อเป็นตัวช่วยในการพยุง กระดูกสันหลัง หากยังมีอาการปวดหลังแบบเป็นๆ หายๆ แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการฉีดยาระงับอาการปวดก่อนในเบื้องต้น แต่ในท้ายที่สุดเมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีอาการปวดอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับผลตรวจ X-RAY และ MRI พบว่ากระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทมากกว่า 25% ขึ้นไป ก็ควรได้รับการรักษาด้วยวิธีการส่องกล้องเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม หรือ Full Endo TLIF ซึ่งจะได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีต่อตัวผู้ป่วย
"หากใครที่มีอาการปวดไม่มาก หรือกระดูกสันหลังไม่ได้เคลื่อนกดทับเส้นประสาท ก็สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อแกนกลาง โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายเฉพาะทาง คอยดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้กระดูกสันหลังไม่เคลื่อนไปทับเส้นประสาทเพิ่มขึ้นได้"