'โควิด-19' กลับมาระบาดอีกครั้ง ยังต้องระวังหรือไม่?
ประเทศไทยประกาศให้ 'โควิด-19' เป็นโรคประจำถิ่น แต่สถานการณ์การระบาดยังไม่หายไป โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 66 ข้อมูลที่รายงานในระบบพบว่ายอดผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงต้นปี 67 และยังคงมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
พญ.กฤตพร พรไพศาลสกุล กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ในปัจจุบัน อาจมีผลมาจากการเดินทางท่องเที่ยว การเฉลิมฉลองในช่วงปีใหม่ การลดความระมัดระวังของประชาชนที่มองว่าตอนนี้โควิด-19 ได้ผ่านพ้นการระบาดครั้งใหญ่ไปแล้ว และเป็นแค่โรคประจำถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับในหลายๆ ประเทศใกล้เคียง ที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น เช่น ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 75%
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่าตั้งแต่ช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2566 การติดเชื้อรายใหม่ และภาพรวมของผู้ป่วย โควิด-19 ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น 52% และมีการประกาศให้เฝ้าระวัง omicron JN.1 เพราะพบการระบาดของสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบเชื้อ JN.1 ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเสียเพิ่มสูงมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ บ่งชี้ว่าอาจจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแหล่งน้ำร่วมด้วย นอกเหนือจากการติดจากสารคัดหลั่ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้การระบาดเพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วง พ.ย. 2566 ต่อเนื่องมาต้นปี 2567 เป็นสายพันธุ์ JN.1 หรือไม่ เนื่องจากข้อมูลล่าสุดช่วง ธ.ค. 2566 สายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดคือ XBB แต่มีแนวโน้มที่ JN.1 จะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทย
ดังนั้นมาตรการทางสาธารณสุข การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการที่ช่วยลดการแพร่เชื้อ และลดโอกาสการรับเชื้อโรคไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิด ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนละเลยในการปฎิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ 1507 I Line : @navavej