
'Sleep test' ตัวทดสอบก่อนหยุดหายใจระหว่างหลับ เช็กอาการผิดปกติก่อนสาย
'Sleep test' คืออะไร วิธีทดสอบก่อนหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ ตัวช่วยบ่งบอกเราเป็น โรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือไม่ เช็กอาการผิดปกติก่อนสาย มีอาการต่อไปนี้พบหมอด่วน
โรคหยุดหายในขณะนอนหลับ ภัยเงียบที่อีกหนึ่งชนิดที่ทำให้ร่างกายเกิดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตระหว่างนอนหลับ โดยข้อมูลจากโรงพยาบาลนนทเวช ระบุเอาไว้ว่า ภาวะนอนกรน ที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น(obstructive sleep apnea) เป็นภาวะที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบลงซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากกายวิภาคของกล้ามเนื้อในช่องคอ ,ลิ้นมีการย่อนไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้นโดยเฉพาะขณะหลับหรือการที่ช่องคอที่ลักษณะแคบ ผลทำให้อากาศและออกซิเจนไม่สามารถ เข้าสู่ปอดไปเลี้ยงร่างกายและสมองได้ คนไข้จะมีภาวะตื่นบ่อย (arousals) ออกซิเจนต่ำในร่างกาย,มีการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเกิดโรคในประเทศไทยพบความชุกสูงถึงร้อยละ 15.4 ในผู้ชายและร้อยละ 6.3 ในผู้หญิง
อาการที่พบในผู้ที่เป็น โรคหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ กรน, หยุดหายใจขณะหลับ, หายใจเฮือก,หลับไม่สนิท, ปัสสาวะบ่อยกลางคืน, ปวดศีรษะตอนเช้า, ง่วงนอนกลางวัน เป็นต้น นอกจากนี้มีข้อมูลว่าโรคดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาวะความผิดปกติของหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, หลอดเลือดสมองตีบ,เบาหวาน,กรดไหลย้อน, ความจำลดลง หรือแม้แต่ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
สำหรับการป้องกันโรคหยุดหายใจขณะหลับสามารถทำได้โดยการทำ "Sleep test" โดยข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณ ระบุเอาไว้ว่า การทำ "Sleep test" หรือ การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เป็นการตรวจเพื่อสังกตการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับ ผลการตรวจช่วยการวินิจฉัยโรคและประเมินระดับความรุนแรงของโรคได้ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น การกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆ และพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ ข้อมูลที่ได้จะนำมาพิจารณาวางแผนหรือติดตามการ รักษาให้ถูกต้องได้
หากพบอาการผิดปกติ ดังนี้ ควรจะดำเนินการทำ "Sleep test" ทันที โดยอาการที่สามารถสังเกตได้อย่างง่ายๆ คือ ผู้ป่วยเริ่มมีภาวะ
- นอนกรนเสียงดังผิดปกติ
- รู้สึกง่วงตอนกลางวันมากผิกปกติ ทั้งที่ได้นอนอย่างเพียงพอ
- สะดุ้งตื่น หายใจเหนื่อยตอนกลางคืน สงสัยมีการหยุดหายใจขณะหลับ
- มีคนสังเกตว่ามีพฤติกรรมผิดปกติขณะนอนหลับ เช่น นอนขากระตุก กัดฟัน ละเมอ หรือฝันร้าย
สำหรับใครทีมีอาการดังกล่าวสามารถเข้ารับการทำ "Sleep test" ได้ทันทีโดยเฉพาะในกลุ่มวัยแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากปัจจุบันประกันสังคมได้ออกประกาศการเบิกจ่ายค่าทำ "Sleep test" ในอัตราเบิกจ่ายตามจริง 7,000 บาท ทั้งนี้สามารถติดต่อขอทำ "Sleep test" ได้ที่โรงพยาบาลประกันสังคมได้แล้วตั้งแต่วันนี้
ข้อมูลอ้างอิง: โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA), ตรวจการนอนหลับ เช็กปัญหาการนอนหลับด้วย Sleep Test