ไลฟ์สไตล์

ทำความรู้จัก 'หมอนรองกระดูกเสื่อม' โรคยอดฮิต หนุ่ม-สาว วัยทำงาน

ทำความรู้จัก 'หมอนรองกระดูกเสื่อม' โรคยอดฮิต หนุ่ม-สาว วัยทำงาน

14 ก.พ. 2567

'หมอนรองกระดูกเสื่อม' อีกหนึ่งโรคฮิตที่ไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุเหมือนในอดีต แต่พบในคนวัยทำงานที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ

ปัจจุบัน หมอนรองกระดูกเสื่อม กลายมาเป็นอีกหนึ่งโรคฮิตที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาวยุคใหม่ที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งบางคนใช้เวลามากถึง 8-12 ชั่วโมงต่อวัน และส่วนใหญ่อาจนั่งผิดท่า หรือก้มๆ เงยๆ ดูหน้าจอมือถือโดยไม่มีการยืด หรือหยุดพัก พฤติกรรมเหล่านี้ ย่อมส่งผลให้หมอนรองกระดูกต้องทำงานหนักขึ้น เกิดเป็นอาการปวดหลังเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุเหมือนในอดีต แต่พบในคนวัยทำงานที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ กว่าเมื่อก่อนมาก

นพ.อัครวิทย์ อัศวศักดิ์สกุล

 

นพ.อัครวิทย์ อัศวศักดิ์สกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลังโรงพยาบาลรามคำแหง อธิบายถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม มี 4 สาเหตุหลัก ดังนี้

 

  • อายุ อายุเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งในการเกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม ถือเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกายตามอายุ ซึ่งควบคุมได้ยากกว่าปัจจัยด้านอื่นๆ
  • การใช้งานร่างกายผิดท่าเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณที่กระทบต่อกระดูกสันหลัง เช่น การยกของหนัก การนั่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือการขับรถทางไกลบ่อยๆ ล้วนส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วกว่าปกติ
  • พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ มีผลทำให้คอลลาเจนในหมอนรองกระดูก เกิดการเสื่อมสภาพและเลือดไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกได้น้อยลง เมื่อสารอาหารไปหล่อเลี้ยงบริเวณนั้นได้น้อย กระดูกจึงเกิดการเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร
  • พันธุกรรม ในแต่ละคนอาจมีโครงสร้างที่ไม่เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสื่อมเร็ว และอาจเกิดการทรุดตัวของกระดูกได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะยังมีอายุน้อยอยู่

 

ทำความรู้จัก \'หมอนรองกระดูกเสื่อม\' โรคยอดฮิต หนุ่ม-สาว วัยทำงาน

 

รักษาภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมเบื้องต้นอย่างไรโดยไม่ต้องผ่าตัด?

 

การรักษาภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมในเบื้องต้น หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าอาการของผู้ป่วยยังไม่รุนแรง และยังไม่มีอาการกดทับของเส้นประสาท แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาแบบประคับประคอง โดยมุ่งเน้นการบรรเทาอาการต่างๆ ดังนี้

 

  • การกินยา ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อ
  • การทำกายภาพบำบัด เช่น การดึงหลัง หรือการใส่เสื้อหรือเข็มขัดพยุงหลังต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน อาจช่วยลดอาการปวด และทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนกลับเข้าที่ได้ ในกรณีที่ไม่เป็นมาก
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการนั่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือการก้มๆ เงยๆ ดูหน้าจอโทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงหลีกเลี่ยงการยกของหนัก ยกของให้ถูกวิธี และการขับรถทางไกลควรหยุดพักเป็นระยะๆ เป็นต้น
  • การออกกำลังกาย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโปรแกรมออกกำลังกายกับนักกายภาพบำบัดโดยตรง หรือรับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูกระดูกสันหลังอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ผู้ป่วยควรยืดกล้ามเนื้อในตอนเช้าเป็นประจำ และทุกครั้งก่อนการออกกำลังกาย การออกกำลังเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว สามารถช่วยลดภาระของหมอนรองกระดูกลงได้

 

ทำความรู้จัก \'หมอนรองกระดูกเสื่อม\' โรคยอดฮิต หนุ่ม-สาว วัยทำงาน

 

เทคโนโลยีการรักษา หมอนรองกระดูกเสื่อม

 

ในผู้ป่วยที่มีการเสื่อมของกระดูกสันหลังมาก หรือมีการกดทับของเส้นประสาท และไม่ตอบสนองต่อแนวทางการรักษาเบื้องต้น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้

 

  • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) แพทย์จะทำการสอดกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งทำหน้าที่เสมือนดวงตาของศัลยแพทย์ ผ่านทางแผลผ่าตัดที่มีขนาดไม่เกิน 8 มิลลิเมตร เพื่อเลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา โดยวิธีการนี้จะแตกต่างจากการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบเดิมตรงที่แพทย์ไม่จำเป็นต้องตัดเลาะเนื้อเยื่อส่วนที่ดีออกเพื่อเปิดทาง ทำให้ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ และลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจึงสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
  • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกด้วยคลื่นวิทยุ หรือนิวคลีโอพลาสตี (Nucleoplasty) เป็นการรักษาโดยไม่ต้องวางยาสลบ โดยแพทย์จะทำการใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปในหมอนรองกระดูกในส่วนที่มีปัญหาแล้วปล่อยพลังงานคลื่นวิทยุ ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นบริเวณปลายเข็มจะเข้าไปสลายหมอนรองกระดูกที่เกินหรือยื่นออกมาไม่ให้กดทับเส้นประสาท ถือเป็นการรักษาที่ใช้เวลาน้อย และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติในระยะเวลาอันสั้น ส่วนมากมักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกอักเสบ

 

ทำความรู้จัก \'หมอนรองกระดูกเสื่อม\' โรคยอดฮิต หนุ่ม-สาว วัยทำงาน

 

สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกัน และลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะ หมอนรองกระดูกเสื่อม ก่อนวัย คือการหันมาดูแลสุขภาพ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลัง รวมถึงควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ และบริหารกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี แต่หากพบว่ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรืออาการปวดมีความรุนแรงมากขึ้น ก็ควรเข้ารับการตรวจและปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง