ไลฟ์สไตล์

“พญ.อัมพร” เตือน อย่างัด-ง้าง-ถ่าง-กด คนเป็น “ลมชัก” เด็ดขาด

“พญ.อัมพร” เตือน อย่างัด-ง้าง-ถ่าง-กด คนเป็น “ลมชัก” เด็ดขาด

17 ก.พ. 2567

เข้าใจผิดมาตลอด ถึงคราว"พญ.อัมพร"อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความรู้เรื่องโรคลมชัก แนะจำขึ้นใจ 'ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง' แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย หากนานเกินกว่า 5 นาที รีบโทร 1669 หรือนำส่งรพ.ด่วน

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ โพสต์ข้อความและภาพผ่าน แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ใจความระบุว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศ “WHO Global Actions on Epilepsy and Other Neurological Disorders" โดยร่วมมือกับองค์การต่อต้านโรคลมชักสากล (ILAE) ในการแก้ปัญหาโรคลมชัก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างรุนแรง พบได้ในทุกช่วงอายุ

ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคลมชักมากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคนในทุก ๆ ปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้ทุกประเทศร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะพบว่า มากกว่าร้อยละ 75 สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยปราศจากอาการชัก

 

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ขานรับนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การต่อต้านโรคลมชักสากล (ILAE) โดยการขับเคลื่อนให้เกิดการดูแลรักษาโรคลมชักแบบครบวงจร และสนับสนุนให้เป็นหนึ่งในนโยบายโรคระบบประสาท เพื่อให้ผู้ป่วยในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ได้รับการดูแลรักษาด้วยมาตรฐานไม่แตกต่างกัน ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายการให้บริการรักษาโรคลมชักทั่วไประเทศ

 

 

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันประสาทวิทยา ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านโรคลมชัก ผลิตและฝึกอบรมบุคลากรเฉพาะทางด้านโรคลมชัก พัฒนาเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนเพื่อให้การดูแลรักษาโรคลมชักเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

 

ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคลมชักยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวันหลายอย่าง ตั้งแต่การเข้าเรียนในโรงเรียน การสมัครเข้าทำงานและการประกอบอาชีพ การแต่งงานมีครอบครัวมีบุตร การเล่นกีฬาและสันทนาการ หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่น ๆ 

 

 

สถาบันประสาทวิทยา จึงมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพและบริการการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักแบบครบวงจร ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การให้การรักษาด้วยยากันชัก การประเมินเพื่อผ่าตัดรักษา การตรวจประเมินขั้นสูงเพื่อหาจุดกำเนิดชักและผ่าตัดรักษาด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทสมองหรือการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นสมองเพื่อลดอาการชัก การดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก ด้วยคำขวัญที่ว่า “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง” แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย หากชักนานเกินกว่า 5 นาที หรือผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากการชัก โทร 1669 หรือนำส่งโรงพยาบาล ตลอดจนการรณรงค์เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคลมชักตามความรู้ความสามารถโดยไม่แบ่งแยก

 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์