ไลฟ์สไตล์

ใครปวดหัว เช็กด่วน อาการแบบไหน? เสี่ยงภัย 'เนื้องอกในสมอง'

ใครปวดหัว เช็กด่วน อาการแบบไหน? เสี่ยงภัย 'เนื้องอกในสมอง'

21 ก.พ. 2567

'เนื้องอกในสมอง' เกิดจากไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเครียด ส่งสัญญาณให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด มีผลให้เซลล์เกิดความผิดปกติ และลดการกำจัดเซลล์ผิดปกติของร่างกาย

สมอง ถือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ช่วยส่งสัญญาณในการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ จึงไม่แปลกที่ทุกครั้งหากมีอะไรเกิดขึ้นกับสมอง เรามักกังวลว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามี เนื้องอกในสมอง มักส่งความรู้สึกด้านลบเหล่านี้ออกมาให้สัมผัสได้

 

นพ. นภสินธุ์ เถกิงเดช

 

นพ. นภสินธุ์ เถกิงเดช แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลรามคำแหง อธิบายว่า ในฐานะหมอศัลยกรรมประสาท การรักษา โรคเนื้องอกในสมอง ต้องเริ่มต้นจากการรักษาความกังวลต่อโรคก่อน คลายความสงสัยว่ามันมาจากไหน? รักษาได้ไหม? แล้วจะถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนในหนังหรือไม่? ดังนั้น หากตัวท่านเองหรือญาติพบว่ามี เนื้องอกในสมอง อย่าลืมหายใจเข้าออกช้าๆ ทำใจให้สบาย และมีสติ เพราะมันคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการรักษา

 

 

เพราะเหตุใดจึงเกิดเนื้องอกในสมอง?

 

แม้ก่อนหน้านี้ เราไม่สามารถทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคได้อย่างแน่ชัด แต่ในปัจจุบันพบว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิด เนื้องอกในสมอง ได้ โดยสาเหตุสำคัญ คือ ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเครียด ซึ่งความเครียดนั้น สามารถส่งสัญญาณให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด มีผลให้เซลล์เกิดความผิดปกติ และลดการกำจัดเซลล์ผิดปกติของร่างกาย และท้ายที่สุด จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้ ดังนั้น การตั้งสติ ลดความเครียด จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมพร้อมต่อสู้กับ โรคเนื้องอกในสมอง ได้เป็นอย่างดี

 

ใครปวดหัว เช็กด่วน อาการแบบไหน? เสี่ยงภัย \'เนื้องอกในสมอง\'

 

เนื้องอกในสมอง แบ่งเป็น 2 แบบ

 

  • แบบดี คือ เนื้องอกที่โตช้า ใช้เวลาหลายปีในการที่เนื้องอกจะขยายขนาด
  • แบบไม่ดี คือ เนื้องอกที่โตเร็ว ซึ่งอาจเพิ่มขนาดเป็นเท่าตัว ภายในเวลาแค่ 3-4 สัปดาห์ ที่เรามักเรียกว่า "มะเร็ง"

 

ดังนั้น หากไม่มีประวัติเป็นมะเร็งในร่างกาย จากสถิติจะพบว่าราว 70% ของ เนื้องอกในสมอง นั้น เป็นเนื้องอกแบบดี หลังจากการทำการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะพยายามระบุชนิดของเนื้องอกให้ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบัน สามารถแบ่งย่อยได้ถึง 130 ชนิด  โดยในการระบุเบื้องต้น แบ่งออกเป็น 2 แบบคร่าวๆ คือ

 

  • เนื้องอกที่กำเนิดมาจากเซลล์สมอง
  • เนื้องอกที่ไม่ได้มาจากเซลล์สมอง แต่มาจากอวัยวะรอบๆ สมอง เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระโหลก ปลอกหุ้มเส้นประสาท หรือ เนื้อร้ายที่กระจายมาจากส่วนอื่น ความต่างของชนิดเนื้องอกทำให้แผนการรักษา และการพยากรณ์โรคแตกต่างกัน ในการยืนยันชนิดของเนื้องอก ต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อ ดังนั้น ความเห็นของแพทย์ก่อนที่จะได้ผลชิ้นเนื้อ มาจากความน่าจะเป็นที่ได้จากประวัติและภาพเอกซเรย์ว่าเนื้องอกของคุณน่าจะเป็นแบบไหน?

 

 

ปวดหัวแบบไหนเสี่ยงภัย เนื้องอกในสมอง?

 

อาการที่พบได้ทั่วไป คือ อาการปวดศีรษะติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยมักเกิดขึ้นตอนเช้า และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดของผู้ที่มี เนื้องอกในสมอง ถูกกดทับ หรือถูกดึงรั้งจากเนื้องอก ผู้ป่วยจึงมักมีอาการคลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ซึ่งเป็นอาการร่วมโดยทั่วไปของทั้ง "เนื้องอกธรรมดาและเนื้อร้าย” โดยจะมีอาการปวดศีรษะตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงมาก และมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยลักษณะอาการมักแตกต่างกันไปตามตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก และนอกจากอาการปวดศีรษะที่เป็นสัญญาณเตือนของกลุ่มโรคทางสมองส่วนใหญ่แล้ว เรายังสามารถสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น

 

  • แขนขาอ่อนแรง
  • มีอาการชัก
  • ตาพร่ามัว
  • เห็นภาพซ้อน
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

 

หากมีอาการปวดหัวเรื้อรัง และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงอาการอ่อนแรงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรืออาการชัก ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

 

ใครปวดหัว เช็กด่วน อาการแบบไหน? เสี่ยงภัย \'เนื้องอกในสมอง\'

 

เนื้องอกในสมอง รักษาได้ไหม?

 

เนื้องอกในสมอง รักษาได้ ทว่าผลการรักษานั้นขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่ง โดยการรักษาแบ่งออกเป็น 3 วิธีดังนี้

 

  • วิธีที่ 1 : การเฝ้าติดตาม การเฝ้าติดตามเพื่อดูขนาดและพฤติกรรมของเนื้องอกในสมองอย่างใกล้ชิดผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ มักพบเนื้องอกในสมองโดยบังเอิญจากการตรวจด้วย CT หรือ MRI และไม่มีอาการผิดปกติ เนื้องอกในสมองประเภทนี้มักอยู่มานานและไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย
  • วิธีที่ 2 : การผ่าตัด การผ่าตัดเป็นวิธีที่มีความจำเป็นในกรณีที่เนื้องอกมีอาการผิดปกติ หรือ เป็นเนื้อดีที่ผ่านการเฝ้าติดตามแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น ปัจจุบัน มีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือ Minimally Invasive Surgery เหมาะสำหรับเนื้องอกในสมองบางชนิด โดยจะใช้ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วยนำทาง (Navigator) ทำให้การผ่าตัดแม่นยำและปลอดภัย
  • วิธีที่ 3 : การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ได้แก่ ทั้งนี้วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่ง อายุ และความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษานี้ เรามักจะใช้เป็นวิธีทางเลือก หรือ ควบคู่ไปกับการผ่าตัดมากกว่าที่จะใช้เป็นวิธีหลักในการรักษา

 

 

หลักปฏิบัติง่ายๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด เนื้องอกในสมอง

 

เนื่องจากสาเหตุของ เนื้องอกในสมอง ยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แนวทางการป้องกันจึงทำได้เพียงดูแลสุขภาพ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อาทิ

 

  • งดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด

 

เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิด โรคเนื้องอกสมองได้ และที่สำคัญ คือ ต้องอย่าลืมดูแลใจให้เข้มแข็งไว้ตลอด เมื่อเรามีสติจะทำให้เรารู้จัก เข้าใจ บางสิ่งบางอย่างได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น