ไขข้อข้องใจ 'เส้นเลือดขอด' ปล่อยไว้อันตรายไหม?
'เส้นเลือดขอด' ม่ถึงขนาดทำให้เสียขาหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอย่างแผลหลอดเลือดดำได้
หลายคนที่มีปัญาหา เส้นเลือดขอด อาจมองว่าเป็นเพียงปัญหาความงาม ไม่ได้รุนแรงอะไร จึงละเลยที่จะเข้ารับการรักษา แต่รู้หรือไม่ว่าหากปล่อยไว้ไม่รักษา เส้นเลือดขอดอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอย่างแผลหลอดเลือดดำได้ โดย นพ.สุทัศน์ ฮ้อศิริมานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมหลอดเลือด โรงพยาบาลรามคำแหง อธิบายว่า เส้นเลือดขอด เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดดำ บริเวณใกล้ชั้นผิวหนังที่ขยายตัวบวมออกมา และมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงเข้ม
เส้นเลือดขอด มักเป็นที่ขาหรือเท้า เนื่องจากการยืนเป็นเวลานานจะส่งผลให้เลือดที่ร่างกายส่วนล่างไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น เส้นเลือดขอด ไม่ถึงขนาดทำให้เสียขาหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เส้นเลือดขอด มีแนวโน้มจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รักษา นอกจากนั้นหากเป็นมากขึ้นจะทำให้มีอาการเมื่อย หนักขา ขาบวม บางคนมีผื่นหรือแผลเรื้อรังเกิดที่บริเวณข้อเท้า ส่งผลกับคุณภาพชีวิตได้
เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร?
- เกิดจากทำงานโดยต้องยืนและเดินนานๆ เช่น พนักงานขายสินค้า พนักงานเก็บค่าโดยสาร
- เกิดจากกรรมพันธุ์ พ่อแม่มีหลอดเลือดขอดลูกก็มีโอกาสเป็นด้วย
- เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นหลอดเลือดขอดเพิ่มขึ้นเนื่องจากความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของลิ้นหลอดเลือดลดน้อยลง
- เกิดจากฮอร์โมนเพศ ซึ่งเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชายเนื่องจากผลของฮอร์โมนเพศหญิงโดยตรง
- เกิดจากการมีน้ำหนักมากเกินไป คนที่มีน้ำหนักมากเกินเลือดจะหมุนเวียนได้ไม่สะดวก จะเกิดการคั่งค้างของเลือดบริเวณขามากขึ้น จึงทำให้เกิดหลอดเลือดขอดได้มาก
สัญญาณเตือนเส้นเลือดขอด
ส่วนใหญ่ เส้นเลือดขอด มักไม่แสดงอาการให้เห็น ยกเว้นจากการสังเกตความผิดปกติ ได้แก่
- มองเห็น เส้นเลือด คดเคี้ยวและนูนออกมา
- เส้นเลือดปรากฏสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา
- เมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ หนักขา
- บวม ร้อนขาส่วนล่าง
- ปวด เมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
- เลือดออกจากเส้นเลือดขอด
- ผิวหนังอักเสบหรือมีแผลบริเวณผิวหนังใกล้ข้อเท้า
การรักษา เส้นเลือดขอด ทำได้อย่างไรบ้าง?
- การรักษาโดยการรับประทานยา เป็นการรักษาเพื่อลดอาการของโรคที่มีเท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาให้ภาวะเส้นเลือดผิดปกติหายขาดได้ จึงใช้เป็นการรักษาร่วมกับวิธีอื่นหรือเพื่อรอระหว่างผ่าตัด
- การรักษาโดยการใส่ถุงน่องทางการแพทย์ แนะนำให้ใช้ถุงน่องชนิดพิเศษ เพื่อให้เลือดไหลกลับจากส่วนปลายขึ้นมาได้ดี ใช้ลดอาการของโรคร่วมกับการรักษาอื่น
- การฉีดสารเคมีที่เส้นเลือดขอด ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก เพื่อให้ เส้นเลือด ที่ฉีดนั้นฝ่อไป
- การใช้เลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง เป็นการผ่าตัดชนิดใหม่ โดยใช้หลักการรักษาด้วยการใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วอาศัยพลังงานจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อไป
- การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการรักษาด้วยการใส่สายเลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง หลังผ่าตัดจะพันขาด้วย Elastic Bandage จากนั้นแนะนำให้ใส่ถุงน่องชนิดพิเศษต่อ และแพทย์จะนัดติดตามอาการ 1 - 2 สัปดาห์
การป้องกัน เส้นเลือดขอด
- ออกกำลังกาย การเดินเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขาดีขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เลี่ยงการนั่งหรือยืนนานๆ ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
- บริหารข้อเท้าขณะนั่ง โดยเหยียดปลายเท้าและกระดกปลายเท้าสลับกันตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด
ปัญหา เส้นเลือดขอด จะไม่ร้ายแรงหากใส่ใจที่จะเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ดังนั้นใครที่เป็นเส้นเลือดขอดควรเข้าพบแพทย์ผู้ชำนาญการโดยเร็วเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี