โรคเรื้อรัง NCDs ป้องกันได้ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
โรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สะสมต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญคือ เมื่อป่วยเป็นโรคแล้วบางรายอาจจะต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
พญ.เมธชนัน เลิศชุณหะเกียรติ แพทย์หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 3 ให้ข้อมูลว่า โรค NCDs (Non-Communicable diseases) ที่ใครบางคนอาจเคยได้ยินมาบ้างแล้วนั้นเป็นกลุ่ม โรคเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สะสมต่อเนื่อง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และสิ่งสำคัญหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นความน่ากลัวของโรคเหล่านี้ คือ เมื่อป่วยเป็นโรคแล้วบางรายอาจจะต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ยากที่จะรักษาให้หายขาด อีกทั้งปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่าในอดีต แต่คงจะดีกว่า ถ้าเรารู้ก่อน ป้องกันก่อน หรือรู้จักวิธีที่จะช่วยส่งเสริมการรักษาโรคให้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เส้นทางเพื่อการป้องกันและรักษา โรคเรื้อรัง หรือ NCDsให้ดีขึ้น
การดูแลรักษาโรคเรื้อรังในด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1. การดูแลรักษาผู้ที่ป่วยด้วย โรคเรื้อรัง แล้ว คือ เน้นดูแลภาพรวมในหลายๆ ด้าน เช่น
- เป็นเสมือนแพทย์ประจำตัวเพื่อดูแลเรื่องยา เช่น ยาแต่ละชนิดที่รับประทานมีผลข้างเคียงกับสุขภาพหรือไม่ หรือยาที่รักษาในแต่ละโรคมีความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ กรณีที่ป่วยหลายโรค หรือรับการรักษาจากหลายโรงพยาบาล เป็นต้น
- ให้ความรู้และแนะนำถึงวิธีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เช่น เรื่องอาหาร การนอนหลับ และการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มศักยภาพของการรักษาให้ดีขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันคนไข้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใส่ใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่จะพึ่งยาเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ยั่งยืน เพราะโรคเรื้อรังนั้นการรักษาจะได้ผลดีและยั่งยืนมากที่สุดคือคนไข้ควรจะต้องดูแลรักษาสุขภาพ รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย
- การดูแลเพิ่มเติมเรื่องสารอาหารและวิตามินที่จำเป็น เพื่อช่วยปรับในส่วนที่ร่างกายขาดให้กลับมาดียิ่งขึ้น และเมื่อสารอาหารนั้นสามารถช่วยบำบัดโรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น แพทย์ผู้ให้การรักษาเฉพาะทางในแต่ละโรคจะค่อยๆ ปรับลดปริมาณยาประจำลง อันเป็นผลดีกับสุขภาพของคนไข้เอง
- ตรวจเช็กและประเมินโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง
2. การดูแลกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็น โรคเรื้อรัง หรือ NCDs
ในกลุ่มนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเมื่อใดที่เข้าข่ายความเสี่ยงก็แปลว่ามีโอกาสเป็นโรคได้ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของการดูแลบุคคลเหล่านี้ คือ ช่วยไม่ให้ก้าวข้ามคำว่าเสี่ยงไปเป็นโรค โดยแพทย์จะพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมกับการซักประวัติความเสี่ยงในด้านต่างๆ อย่างละเอียด การดูแลเพื่อป้องกันการเกิดโรคสำหรับกลุ่มนี้จะพิจารณาหลายส่วนประกอบกัน ได้แก่
- ตรวจเช็กหาปัจจัยเสี่ยงของ โรคเรื้อรัง
- ให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลที่มี เพศ อายุ และอาชีพที่แตกต่างกันออกไป
- ให้รับประทานอาหารเสริมเท่าที่จำเป็นควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม
- การเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์เพื่อปรับพฤติกรรม เปรียบเสมือนผู้ช่วยที่คอยนำทางให้เราสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง และรู้ว่ามีข้อควรระวังใดที่ต้องตระหนักมากกว่าปกติ หลังจากได้รับคำแนะนำโดยส่วนใหญ่แพทย์จะนัดติดตามผลในอีก 1-2 เดือนต่อมา เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง และให้คำแนะนำเพิ่มเติม ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะหากละเลยเมื่อใด โอกาสก้าวข้ามจากคำว่าเสี่ยง…ไปเป็นโรคก็เกิดขึ้นได้เสมอ