รู้หรือไม่? ต่อให้ไม่กิน 'เค็ม' ก็มีโอกาสเป็น 'โรคไต' ได้อยู่ดี
การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคไตได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะไม่กิน 'เค็ม' ไม่เติมเกลือ ไม่เติมน้ำปลาเวลาทานอาหาร เราทุกคนก็ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็น 'โรคไต' ได้อยู่ดี
อย่างที่ทราบกันดีว่า “รสเค็ม” และ “โซเดียม” เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนเรามีโอกาสป่วยเป็น โรคไต ได้ จนเป็นที่มาของการรณรงค์ ไม่กินเค็ม ไม่เต็มเกลือ ไม่เติมน้ำปลาในอาหาร เพื่อให้ห่างไกลจากภาวะโรคไตถามหา แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะไม่กิน เค็ม ไม่เติมเกลือ ไม่เติมน้ำปลาเวลากินอาหาร เราทุกคนก็ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตได้อยู่ดี โดยจะเกิดจากอะไรได้บ้างนั้น ไปดูพร้อมๆ กันเลย
หลากหลายสาเหตุ โรคไต ที่เป็นได้แม้ไม่ต้องกิน เค็ม
พญ.โชติมา พิเศษกุล แพทย์สาขาอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคไต ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลพญาไท 3 อธิบายว่า ในทางการแพทย์มีปัจจัยมากมาย ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายคนเรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิด โรคไต แต่ปัจจัยที่พบได้บ่อย ก็คือ
- เป็นแต่กำเนิด เกิดจากการที่ร่างกายคนเราเกิดมาพร้อมกับไตที่ผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ เช่น บางคนเกิดมาแล้วไตฝ่อ บางคนมีไตข้างเดียว หรือมีโครงสร้างเซลล์ในไตที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องของโชคชะตาที่ไม่สามารถป้องกันได้
- หลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ ไม่จำเป็นต้องกินเค็มก็สามารถเกิดขึ้นได้ เส้นเลือดฝอยในไตสามารถอักเสบขึ้นมา ได้จากหลายๆ โรค เช่น SLE ซึ่งอาจนำพาไปสู่การเป็นโรคไตอักเสบ และไตเสื่อมได้ในที่สุด
- ติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งไม่สัมพันธ์กันกับเรื่องของอาหารแต่อย่างใด และเมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นก็จะทำให้เกิดไตติดเชื้อ เป็นฝี หรือเป็นหนองในไตขึ้นได้
- มีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ อาทิ เป็นนิ่ว เป็นโรคต่อมลูกหมาก ซึ่งเมื่อเกิดการปัสสาวะติดขัดนานวันเข้า ก็อาจลุกลามไปสู่ไตและกลายเป็นโรคไตเสื่อมได้
- เนื้องอกในไต ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเนื้อร้ายอย่างมะเร็ง หรือเนื้องอกธรรมดาทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับอาหารและการรับประทานของที่มีรสเค็ม
ไม่กินเค็มใช่ลดแค่เกลือกับน้ำปลา แต่หมายถึงอาหารอีกนานาชนิด
คำว่า “ไม่กินเค็ม” ไม่ได้หมายความเพียงแค่ “การลดปริมาณเกลือและน้ำปลา” ในอาหารเท่านั้น เพราะในชีวิตประจำวันเรายังมีอาหารอีกหลายประเภทที่มีความ เค็ม และ โซเดียม ในตัว ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ให้ รสเค็ม เสมอไป ทำให้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ก็จะไปเพิ่มปริมาณความเค็มในร่างกาย และทำให้ไตทำงานหนักจนเกิดเป็นความเสี่ยงต่อการเป็น โรคไต ได้ในที่สุด ดังนั้นควรควบคุมปริมาณการบริโภคสิ่งเหล่านี้ให้ดีเพื่อลดโอกาสในการเสี่ยงเป็นโรคไต
- น้ำจิ้ม น้ำราด ซอสทั้งหลาย ล้วนแต่มีส่วนผสมของเกลืออยู่ ทุกครั้งที่เรานำอาหารจิ้มกับน้ำเหล่านี้ จึงเท่ากับเพิ่มปริมาณความเค็มในร่างกายขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ยิ่งจิ้มเยอะ ราดเยอะ ก็ยิ่งได้รับความเค็มมากขึ้นเท่านั้น
- อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ แฮม ไส้กรอก หมูหยอง หมูแผ่น ฯลฯ อาหารเหล่านี้ได้รับการปรุงรสโดยมีความเค็มอยู่แล้วในตัวเอง ยิ่งเมื่อเรารับประทานคู่กับน้ำจิ้ม น้ำซอสเข้าไปอีก ก็จะยิ่งทำให้ปริมาณความเค็มในร่างกายเพิ่มเป็นเท่าตัว
- ขนมปัง แม้จะไม่ได้มีรสชาติเค็ม แต่หากเราสังเกตให้ดีในฉลากโภชนาการ จะพบว่าขนมปังนั้นเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงกว่าข้าว เพราะ ในขนมปังมีผงฟู และผงฟูคือเกลือชนิดหนึ่ง ดังนั้น การรับประทานขนมปังมากๆ รับประทานขนมปังแทนข้าว ก็มีโอกาสได้รับเกลือเกินได้
- ขนมคบเคี้ยว ขนมอบกรอบ ถือเป็นหนึ่งในของทานเล่นที่ได้รับความนิยม หากแต่ 1 ถุงเล็กๆ ของขนมบางชนิดนั้นเต็มไปด้วยปริมาณโซเดียมที่มากกว่าอาหารทั้งมื้อด้วยซ้ำไป ดังนั้น การรับประทานขนมคบเคี้ยวนอกมื้ออาหารบ่อยๆ จึงเป็นการทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคไตมากขึ้น
ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจาก โรคไต มากที่สุด
การควบคุมพฤติกรรมการกินให้ถูกต้อง การเลือกรับประทานอาหารอย่างเข้าใจ ว่าอาหารประเภทไหนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ โรคไต เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไตได้ ทั้งนี้ ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวันนั้นอยู่ที่2,000 มิลลิกรัม ซึ่งโดยปกติแล้ว คนไทยเราก็จะได้รับปริมาณโซเดียมเกินกว่าที่มาตรฐานร่างกายต้องการอยู่แล้ว ด้วยเป็นเมืองที่อาหารอร่อย รสชาติจัดจ้าน และมีการปรุงรสค่อนข้างเยอะ ดังนั้น เราจึงควรควบคุมการบริโภคให้อยู่ในความพอดี คือ เกินได้บ้าง แต่ก็ใช่ว่าปล่อยเกินเลยโดยไม่ควบคุม เพราะยิ่งปล่อยมากเท่าไร ไตก็ยิ่งทำงานหนักมากเท่านั้น
นอกจากเรื่องของอาหารการกินแล้ว เราก็ควรจะต้องออกกำลังกาย ดูแลร่างกายตัวเองให้ดี ให้ห่างไกลจากโรคความดันสูง เบาหวาน ต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพราะ ถ้าร่างกายแข็งแรง ไตก็จะแข็งแรงด้วย ในขณะเดียวกันไตมีหน้าที่ขับของเสียออกทางปัสสาวะ ดังนั้นหากเราดื่มน้ำน้อย ก็จะทำให้ไตทำงานหนัก และขับของเสียออกมาได้ไม่ดี ทำให้เกิดเป็นของเสียตกค้างและมีผลต่อโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตได้ในที่สุดนั้นเอง
“ไม่กินอาหารรสจัด ไม่เพิ่มน้ำจิ้ม น้ำราด ลดหวานมัน ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างพอเพียง คือพฤติกรรมการกินอาหาร ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไตที่ดีที่สุด”