แนะ หญิงสูงวัย เตรียมพร้อมรับมือปัญหา 'วัยทอง' เช็กด่วน คุณเข้าข่ายหรือยัง
'วัยทอง' คือวัยหมดประจำเดือน หรือเริ่มจะหมดประจำเดือน ช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี ซึ่งระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายของเรามีความเปลี่ยนแปลง
ทำไม ผู้หญิง หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี ซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร เป็นวัยทองรึเปล่า?? เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยๆ แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไม วัยทอง แล้วต้องหงุดหงิด หรือนอกจากนี้ในช่วงวัยทองยังมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แล้วใครบ้างที่เข้าข่ายวัยทอง พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) จะมาไขข้อสงสัยให้ฟังกัน พร้อมกับแนะนำวิธีรับมือวัยทอง
วัยทอง ใน ผู้หญิง ก็คือวัยที่หมดประจำเดือน หรือเริ่มจะหมดประจำเดือน ช่วงอายุประมาณ 45 - 55 ปี ซึ่งระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงไป โดยฮอร์โมนที่สำคัญในเพศหญิงก็คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) เมื่ออายุมากขึ้นการสร้างฮอร์โมนไม่สมดุล มีการลดลงของระดับเอสโตรเจน จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่
- ผิวแห้ง เหี่ยว หย่อนคล้อย ไม่เต่งตึงเหมือนเดิม
- ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- ช่องคลอดแห้ง มีปัญหาปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ความต้องการทางเพศลดลง
- การเผาผลาญลดลง อ้วนง่าย ลดน้ำหนักได้ยาก
- เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
- เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ความจำลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์
เมื่อก่อนปัญหา วัยทอง เป็นสิ่งที่ ผู้หญิง ทุกคนต้องเจอ และทำใจยอมรับด้วยเหตุผลว่าเป็นไปตามวัย แต่หมออยากบอกว่า อาการวัยทองสามารถชะลอหรือรักษาได้ถ้าเรารู้เท่าทันฮอร์โมนในร่างกายของเรา และเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนเข้าสู่วัยทองค่ะ เราสามารถดูแลตัวเองได้ง่าย คือ
- การเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย ได้สารอาหารครบถ้วน หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน ทอด เค็ม อาหารแปรรูป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้การหลั่งโกรธว์ฮอร์โมนได้ดี
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่หักโหมเกินไป
- อาจรับประทานอาหารเสริมประเภทวิตามินดี หรือแคลเซียมเพิ่มเติมตามความจำเป็น
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก กระดูกพรุน เป็นต้น
หากปฏิบัติตามนี้แล้ว ยังมี อาการวัยทอง รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานไม่ได้หงุดหงิด นอนไม่หลับ สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อตรวจวัดความสมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และรับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน
เห็นไหมว่า วัยทอง ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือเรื่องที่ต้องทำใจยอมรับโดยไม่มีทางแก้ไข แต่เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับวัยทองได้ โดยไม่ต้องรอให้ถึงวัยทอง เราสามารถเตรียมตัวได้แต่เนิ่นๆ ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี